คณบดี CIBA DPU เตือนภัยคนร้ายหลอกลงทุนในตลาดคริปโต

16

คณบดี CIBA DPU เตือนภัยคนร้ายหลอกลงทุนในตลาดคริปโต ใช้วิธีแอบอ้างชื่อพร้อมรูปบุคคลที่น่าเชื่อถือ สร้างความน่าสนใจในการลงทุน พร้อมสร้างเว็บเทรดปลอมให้ดูสมจริง ชี้คนร้ายทำเป็นขบวนการ แนะอย่าหลงเชื่อควรตรวจสอบทุกช่องทางและตรวจสอบใบอนุญาตการแนะนำการลงทุนก่อนตัดสินใจ

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงกลโกงที่คนร้ายหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี ว่า เหตุเกิดขึ้นกับตนเองที่มีคนร้ายนำชื่อและรูปถ่ายไปแอบอ้างและหลอกลวงคนมาลงทุนในตลาดคริปโตฯ ในช่วงที่ตลาดกำลังบูม จึงอยากนำมาเป็นกรณีศึกษาเตือนภัยสำหรับคนทั่วไปที่สนใจลงทุนในตลาดนี้และบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านการแนะนำการลงทุนให้ระวังกลโกงของกลุ่มคนร้ายที่อาจนำรูปและชื่อไปใช้ในการหลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับบุคคลที่ถูกแอบอ้างได้

สำหรับรูปแบบของการหลอกลวงใช้วิธีการลักษณะมีนางนกต่อโดยสร้างความรู้จักกันกับผู้เสียหายผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย หลังจากคุยและสร้างความสนิทสนมกันไปสักพักแล้วก็เริ่มชักชวนให้ลงทุน โดยแนะนำให้รู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในเหรียญคริปโตเคอเรนซี ซึ่งก็เป็นแก๊งเดียวกันที่แอบอ้างหรือปลอมตัวโดยใช้ชื่อและรูปของบุคคลอื่นมาสร้างโปรไฟล์ให้มีความน่าเชื่อถือ โดยบุคคลที่คนร้ายนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมกันนั้นคนร้ายก็สร้างเว็บเทรดปลอมขึ้นมาให้เห็นว่ามีการเทรดกันจริง ๆ โดยสร้างกราฟให้มีแนวโน้มการเติบโตดีและจะมีโอกาสสร้างกำไรได้เพื่อหลอกให้เหยื่อสนใจ

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม

ทั้งนี้ คนร้ายที่แอบอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจะโน้มน้าวให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีเพื่อทำการเทรดเหรียญ เบื้องต้นสร้างความไว้วางใจก่อน โดยยังไม่ให้ผู้เสียหายลงทุนเป็นสกุลเงินจริง เมื่อการลงทุนเติบโตได้ผลกำไรมากขึ้น เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเห็นการเติบโตของเม็ดเงินในบัญชีที่ผูกไว้กับการลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี ก็กล้าที่จะจ่ายเงินจริงลงไป โดยกลุ่มคนร้ายอ้างว่าหากจะถอนเงินกำไรที่ได้จากการเทรดฯ ต้องโอนเงินเข้าบัญชีที่เปิดไว้สำหรับการเทรดฯก่อน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะสูญเงินที่โอนเข้าไปในจำนวนไม่น้อย ซึ่งวิธีการทำให้เหยื่อตายใจคนร้ายจะหลอกล่อ ด้วยการให้ผู้เสียหายได้รับเงินจากการเทรดฯจริงก่อนเพียงครั้งหรือสองครั้ง แต่ภายหลังเมื่อโอนเงินเข้าบัญชีไปเป็นเงินจำนวนเงินก้อนโตแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้และสูญเงินไปในที่สุด

ในกรณีของผมมีการแอบอ้างชื่อจริงนามสกุลและรูปจริง ๆ โดยมีผู้เสียหายโทรเข้ามาติดต่อผมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุนในตลาดคริปโตฯ ซึ่งหลังจากพูดคุยกัน จึงทราบว่ามีคนนำรูปและชื่อจริงๆ ของผมไปใช้แอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญหลอกแนะนำให้ลงทุนในตลาดคริปโตฯ โดยรูปผมนั้นคนร้ายนำมาจากสื่อโซเซียลต่าง ๆ พอผู้เสียหายตรวจสอบชื่อในสื่ออินเตอร์เน็ตก็จะมีทั้งรูปและชื่อจริงจึงกลายเป็นว่าผมมีตัวตนจริง ๆ ผู้เสียหายหลายคนก็หลงเชื่อ แต่กรณีที่ผู้เสียหายท่านนี้ได้ทำการตรวจสอบโดยการค้นหาว่าผมอยู่สังกัดใด แล้วดำเนินการโทรเข้ามาหาผม เพราะเขาเอะใจว่า ชื่อบัญชีที่ให้โอนเงินเข้าไปกับชื่อในบัญชีไลน์ ทำไมไม่ตรงกัน จึงรีบตรวจสอบกลับมาที่สังกัดของผม เราจึงทราบเหตุที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

อยากจะเตือนให้ทุกท่านระวังกลโกงในลักษณะนี้ ทั้งกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงที่อาจจะถูกนำรูปไปแอบอ้าง และผู้ที่สนใจลงทุนในตลาดคริปโตฯ ต้องตรวจสอบให้ดีเพราะรูปแบบการโกงปลอมขึ้นมาทุกอย่างรวมถึงเว็บเทรดก็ยังปลอมด้วย ตลาดคริปโตฯมันมีความผันผวนมาก คนที่จะเข้ามาเล่นต้องระวัง หากสนใจให้เข้าไปศึกษา ใน

” CoinmarketCap.com ตรวจสอบกระดานเทรดที่คนร้ายปลอมขึ้นมาว่ามันมีอยู่จริงมั้ย นอกจากนี้ให้ตรวจสอบใบอนุญาตการแนะนำการลงทุนของผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นผู้เชียวชาญการลงทุน เพราะผู้ที่จะแนะนำการลงทุนได้ต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น และการลงทุนในเว็บเทรดของจริงต้องลงเงินจริงตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ลงเงินแบบลมๆก่อนแบบนี้
อยากฝากถึงทุกคนว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ คนร้ายอาจหลอกล่อให้เราโอนเงินไปที่เขา 50,000 บาท เพื่อแลกกับการถอนเงิน 100,000 บาท ออกมา แต่เงินก้อนนั้นกลับไม่มีอยู่จริง ” ผศ.ดร.ศิริเดช ฝากทิ้งท้าย