“ดร.ยุ้ย”ดัน 216 นโยบายปรับกลไกบริหารกทม.เน้นทำงานแบบเลคกูเรเตอร์ขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การปฏิบัติการขับเคลื่อนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่ ให้บรรลุเป้าหมายได้ ทั้ง 216 ข้อให้สำเร็จ ขณะนี้ได้เริ่มต้นทำทุกนโยบายไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนกรุงเทพ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาของคนกรุงเทพฯ แต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นแผนการดำเนินงานของผู้ว่า กทม. และทีมงานได้ออกแบบการทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปรับรูปแบบจากการเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย หรือ “Policy makers” มาเป็นผู้กำกับ ที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนหรือ Regulator โดย กทม.จะทำงานแบบองคาพยพ หรือการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะมีทั้งภาคประชาชน หน่วยราชการ เครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
สำหรับการทำงานตามนโยบายของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไม่สามารถทำเพียงผู้เดียวได้ที่จะให้บรรลุตามเป้าหมาย ที่จะพัฒนาให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน แต่เราจะต้องใช้วิธีการเป็นผู้ประสานสิบทิศแทน เพราะบางนโยบาย เราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เช่น นโยบายสนับสนุน การพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองนั้น กทม.ไม่จำเป็นที่จะลงมือสร้างที่อยู่อาศัยเอง เพราะปัจจุบันมีโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งทำอยู่แล้ว ดังนั้น กทม.จะทำหน้าที่ให้การสนับสนุน ประสานงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ กทม. รับหน้าที่เก็บข้อมูลรายละเอียดแปลงที่ดินที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ศึกษาการนำแปลงที่ดินที่ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จากกฎหมายควบคุมอาคารและผังเมือง เพื่อรวบรวมในการมาปรับปรุงให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเคหะแห่งชาติ หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ควบคู่ไปกับการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่ม เพื่อการออมและการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชน อีกทั้งช่วยลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นรูปแบบการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ผศ.ดร.เกษรา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเราจะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้นโยบายขับเคลื่อนได้แล้ว ในส่วนของหน่วยงานที่ผ่านมา ได้มีการประชุมทำความเข้าใจ กับสำนักต่างๆ และสำนักงานเขต ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สอดรับกับแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ 9 ดี และ 216 นโยบาย โดยสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล จะเป็นผู้ดูแล
“เราใช้วิธีให้นโยบาย 216 ข้อเป็นหลัก และให้แต่ละสำนักและสำนักงานเขต นำไปใส่ใน Action Plans เราไม่ได้เปลี่ยนแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับเดิมที่มีอยู่ เพียงแต่เป็นการปรับแนวปฏิบัติการให้สอดคล้องกัน” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 216 ข้อนั้น จะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกนโยบายเพราะทุกนโยบายสำคัญเท่ากันหมด เพียงแต่บางนโยบายจะเป็นรูปธรรมก่อน แต่บางเรื่องเราอาจจะเห็นช้า อาทิ การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ของกรุงเทพมหานครก็ถือว่าเป็นการ Open Bangkok ให้กับประชาชนได้รับทราบ การจัดทำงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ (Zero-Based Budgeting) โครงการ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางที่ได้เริ่มต้นทำแล้ว หรือโครงการนำร่องผ้าอนามัยฟรี ที่ได้ทำเป็นโครงการนำร่องในโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นต้น