เกาะติดพิษสุนัขบ้า อย่าชะล่าใจ เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

36

ออกโรงเตือนกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้วสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอยู่ในความน่ากังวล เพราะกรมปศุสัตว์ได้ทำการสำรวจมาตั้งแต่ต้นปีแล้วพบว่า ในเมืองไทยมีสุนัขบ้าอยู่มากกว่า 100 ตัว ขณะที่ปี 2560 มีสุนัขและแมวที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน
ล่าสุดจากการเฝ้าระวังและติดสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของกรมควบคุมโรค รายงานว่า ในปีนี้พบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ที่ จ.สุรินทร์ สงขลา และตรัง
ฟังแล้วน่าใจหาย เพราะทั้ง 3 รายไม่ไปยอมไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากการสอบสวนโรค พบว่าเมื่อถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่ล้างแผลเองที่บ้าน ร้อยละ 82 ไปรักษาที่สถานพยาบาล เพียงร้อยละ 18 โดยสุนัขที่กัดเกือบครึ่งหนึ่งเป็นสุนัขจรจัด และพบว่าไม่มีประวัติหรือไม่ทราบการได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 89.7
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นกับสุนัขจึงมีโอกาสถูกกัดได้ง่าย แม้ว่าจะเป็นสุนัขในบ้านที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม อาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากที่สุนัขของตนเองไปเล่นกับสุนัขจรจัดนอกบ้านได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากถูกสัตว์ที่ไม่ทราบประวัติกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโปรวิดีนหรือแอลกอฮอล์ จากนั้นรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามนัด จึงจะได้ผลเพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท แสดงอาการป่วยแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
ย้ำกันอีกทั้งว่า ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยนำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2–4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ ทั้งนี้ หากประชาชนพบสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการอัมพาต ขาอ่อนแรง คลุ้มคลั่งมีอาการทางสมอง โปรดแจ้งไปที่กรมปศุสัตว์ 02-653-4412 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ทราบแล้วก็ขอให้ทุกคนอย่าชะล่าใจ หลายคนอาจจะเห็นสุนัขหรือแมวเป็นมิตรที่ดีเสมอ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งหน้าร้อนเป็นช่วงที่น่าหงุดหงดของทั้งคนทั้งสัตว์ก็ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ