กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กำหนดแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้วยการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการภายในประเทศทุกระดับชั้น
เนื่องในโอกาสที่ กระทรวง อว. กำหนดจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อาคาร 9 – 10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ภายใต้ Theme “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและนานาชาติ ซึ่งเป็นการกระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทย ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอาชีพด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปนั้น
วว. นำผลงานวิจัยและพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ครบวงจร ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ICPIM 2) และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศูนย์จุลินทรีย์ ICPIM 1 และ ALEC) เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม ภายใต้แนวคิด TISTR : The Wonders of Microbe World มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์ วว. ณ อาคาร 9 อิมแพค เมืองทองธานี แสดงผลงานผ่าน 3 โซนกิจกรรม ดังนี้
โซนที่ 1 เปิดโลกจุลินทรีย์ วว. นำเสนอนิทรรศการเชิงวิชาการตลอดห่วงโซ่อุปทานในการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ความรู้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้แก่เยาวชน พร้อมชี้ช่องทางการประกอบธุรกิจ ให้แก่ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ในด้านอาหาร/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/เครื่องสำอาง ด้านการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อม
โซนที่ 2 TISTR Virtual Tour นำเสนอการเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านจุลินทรีย์ของ วว. ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (360 องศา) เยี่ยมชมได้ที่ https://www.tistr-virtualtour.com/ ดังนี้
ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 1 ( Innovative Center for Production Industry used Microorganisms : ICPIM 1) ศูนย์กลางการให้บริการเทคโนโลยีจุลินทรีย์ครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล
และยังเป็นที่ตั้งของธนาคารสายพันธุ์โพรไบโอติกที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นคุณสมบัติด้านโพรไบโอติกตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสายพันธุ์โพรไบโอติกที่อยู่ในธนาคารฯ ได้รับการเก็บรักษาภายใต้มาตรฐานสากลของ The World Federation for Culture Collections (WFCC) อย่างเข้มงวด และได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านการวิจัยพัฒนาการผลิตและบริการ ให้เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้จากจุลินทรีย์โพรไบโอติกและพรีไบโอติก รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลจุลินทรีย์ เพื่อนำไปวิจัยและต่อยอดให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center : ALEC ) อาคารปฏิบัติการตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ ดำเนินงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ กระบวนการ/เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายขนาดเล็กทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายขนาดเล็ก (TISTR Algae Culture Collection, TISTR ACC) ซึ่งในปัจจุบันรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก (freshwater microalgae) และสาหร่ายน้ำเค็มขนาดเล็ก (marine microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ
พร้อมจัดทำฐานข้อมูลกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-400,000 ลิตร อย่างครบวงจร เพื่อการผลิตชีวมวลสาหร่ายสำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัชภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ตอบสนองความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความแข็งแกร่งในด้านการวิจัย พัฒนาจากฐานทรัพยากรชีวภาพ และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแก่ภาคเอกชน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้/เทคโนโลยี/กระบวนการ การอบรมปฏิบัติการร่วม (on-the-job training) ทั้งที่ วว. และ ณ สถานที่ของภาคเอกชนด้วยกระบวนการเป็นพี่เลี้ยง (mentoring system) เพื่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางในการจัดการและใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในระดับภูมิภาค
ศูนย์จุลินทรีย์ (TISTR Culture Collection) แหล่งกลางรวบรวมเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิดที่มีประโยชน์ในการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 : 2008 นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยบริการด้านจุลินทรีย์ (service culture collection) แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2519 ให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฯ ในระดับภาคพื้นเอเชียอาคเนย์และเป็นศูนย์เครือข่ายระดับโลก (UNESCO World Network of Microbiological Resources Centre-MIRCEN ) ดำเนินกิจกรรมงานวิจัยและงานบริการด้านจุลินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจุลินทรีย์อย่างยั่งยืน
ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2 ( Innovative Center for Production Industry used Microorganisms : ICPIM 2) ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และเป็นโรงงานต้นแบบในการพัฒนา ทดสอบกระบวนการผลิตจุลินทรีย์ระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยมีกำลังการผลิต 115,000 ลิตรต่อปี นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัย ผลิตชีวภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รับน้องๆในระดับอุดมศึกษามาเรียนรู้ ฝึกงาน รวมถึงทำวิจัยในด้านต่างๆ ของการพัฒนางานด้านชีวภัณฑ์ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ โรงงาน และภาคสนาม เพื่อเป็นแรงงานรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพต่อไปในอนาคต
โซนที่ 3 กิจกรรมสันทนาการ เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของผู้เข้าชมบูธนิทรรศการทั้ง On-ground และ On–line ผ่านกิจกรรมเสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ เยาวชนของไทย
“ วว. ให้ความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ปลูกฝังเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆมิติ ผลงานที่นำมาจัดแสดงและจัดกิจกรรมครั้งนี้มีการนำไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม ช่วยเสริมแกร่ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม…” ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว