บริติช เคานซิล สอวช./บพค. ร่วมกับ จุฬาฯเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัว

18

บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทย์ จุฬาฯ และรพ. จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผนึกกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกบรรยายหมอไทย พร้อมกับเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูงแห่งแรกในไทยและอาเซียน

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และโดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา (มีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20) และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 ดังนั้นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นด้วย ความท้าทายนี้เป็นปัญหาในระดับโลก บริติช เคานซิล และสอวช./บพค. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระดมกำลังเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากอังกฤษ บินตรงให้ความรู้หมอไทยในงาน “ประชุมวิชาการก้าวไกล” จัดโดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 พร้อมกับเปิดตัวคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูงแห่งแรกในไทยและอาเซียน

Helga Stellmacher, Country Director ของ British Council บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือว่า บริติช เคานซิล ได้สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ คือความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา British Council และ British Embassy ได้มีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนในการพัฒนาการดูแลคนไข้ การมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาการวิจัย และความร่วมมือหลักสูตรในการพัฒนาแพทย์เฉพาะทางรุ่นใหม่ ผ่านทุน Research Environment Link และ โครงการ Thai-UK world class university consortium ก่อให้เกิดงานวิจัยที่ยอดเยี่ยม พร้อมกับการสนับสนุนระบบสาธารณสุขของไทย โดยการต่อยอดงานวิจัยให้เป็นการบริการที่เป็นรูปธรรม

ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เผยว่า ทาง บพค. มีหน้าที่หลักในการจัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนโยบายของรัฐบาล และเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่จะเกิดขึ้น

บพค. ได้ร่วมสนับสนุนโครงการ วิจัยและพัฒนาในหัวข้อ : Public Involvement and Engagement assessment framework to reflect Thai older adult needs: Innovative monitoring and evaluation of social science, humanities, and arts (SHA) research เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชากรผู้สูงอายุ ในการสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุในการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยทางการแพทย์ และพัฒนาทีมงานในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย

ตลอดโครงการทางผู้วิจัยได้จัดกิจกรรมเพื่อสะท้อนและรับฟังความเห็นของผู้สูงอายุอย่างประสบความสำเร็จรวมทั้งได้รวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญนี้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยท่านอื่นในไทยต่อไปอีกด้วย

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลก มีปณิธานที่จะสร้างคน สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม สร้างเสริมสังคมไทยให้ก้าวไกลในสังคมโลก คณะแพทยศาสตร์เองก็เช่นเดียวกัน เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมและสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า

ตลอดจนให้บริการทางการแพทย์และวิชาการเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงวิชาการของชาติและนานาชาติและชี้นำสังคม ซึ่งความร่วมมือในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และทุนวิจัยร่วมมือพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุด้านการได้ยินและทรงตัว ในครั้งนี้ของ ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร และ Professor Doris Bamiou ของทางศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว University College London Ear Institute สถาบันหูแห่งมหาวิทยาลัยกรุงลอนดอน และ Royal National Throat Nose Ear Hospital โรงพยาบาลหูคอจมูกแห่งสหราชอาณาจักร นับเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริง

นอกจากจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาการวิจัยและร่วมมือหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่เป็นผู้นำในระดับชาติและนานาชาติแล้ว ยังสามารถต่อยอดงานวิจัยให้กลายเป็นงานให้บริการกับบุคคลโดยทั่วไปได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์ Doris Bamiou จาก โรงพยาบาลหูคอจมูกแห่งชาติอังกฤษ Royal National Throat Nose Ear Hospital, ศูนย์หูแห่งมหาวิทยาลัยแห่งกรุงลอนดอน UCL Ear Institute ได้เข้าร่วมการบรรยายให้แก่ โสต ศอ นาสิกแพทย์กว่า 300 ชีวิต ในงานประชุม “ประชุมวิชาการก้าวไกล” จัดโดย ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565 ในหัวข้อ “Hearing Loss – the Highest Modifiable Risk Factors for Dementia” เผยถึงความสำคัญของปัญหาการได้ยิน ซึ่งมีผลต่อสภาวะสมองเสื่อม เพราะหูเป็นอวัยวะรับเสียง แต่สมองเป็นอวัยวะที่ใช้ในการได้ยิน พร้อมกับเน้นย้ำว่าปัญหาการได้ยินและสมองเสื่อมจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องเร่งวิจัยพัฒนาเพื่อสามารถให้บุคลากรสามารถจัดการให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก ประจำคลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง (Advance hearing and balance clinic) กล่าวสรุปว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในระดับตติยภูมิที่รับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะการให้บริการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยินและทรงตัว นับเป็นปัญหาที่พบบ่อยและมีความซับซ้อนของโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาศัยความรู้ความสามารถของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้บริการการรักษาการได้ยินและทรงตัวขั้นสูงในระดับสมอง พร้อมทั้งตรวจประเมินและแปลผลการได้ยินรวมทั้งการทรงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการต่อยอดความร่วมมือวิจัยกับนานาประเทศ

ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้จัดตั้ง “คลินิกการได้ยินและการทรงตัวขั้นสูง” (Advance hearing and balance clinic) ภายใต้ศูนย์การได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว Hearing Speech and Balance Centre ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยคลินิกและศูนย์ฯ ตั้งอยู่ที่ ชั้น 8 อาคาร ส.ธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ปัญหาการได้ยินและทรงตัว เป็นปัญหาหลักถึงหนึ่งในสามของผู้สูงอายุทั่วโลก การดูแลรักษาผู้สูงอายุอย่างองค์รวมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คลินิกการได้ยินทรงตัวขั้นสูง เน้นดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อน ร่วมกับศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างๆ ในตึกสธ เช่น ศูนย์ผู้สูงอายุ สธ4, ศูนย์สมองเสื่อม สธ15, ศูนย์ประสาทวิทยา สธ11 เป็นต้น ผู้ป่วยเหล่านี้ ต้องการดูแลรักษาขั้นสูงในด้านการได้ยินและทรงตัว ตรวจประเมินด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย

ที่ศูนย์ของเรา มีเครื่องมือ การตรวจการได้ยินระดับเซลล์ การตรวจการได้ยินและระดับสมอง การตรวจการทรงตัว และการกระตุ้นการได้ยิน รวมถึงการทรงตัวระดับสูง อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงวัยเท่านั้นที่จะพบปัญหาการได้ยินการสื่อสารและการทรงตัว แต่ในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ส่งผลให้เด็กมีภาวะเดินได้ช้า ไม่สามารถทรงตัวได้ และในกลุ่มวัยกลางคนอายุระหว่าง 30-40 ปี ก็สามารถพบปัญหาการได้ยินและการทรงตัวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อการได้ยินและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (The Johns Hopkins Cochlear Center for Hearing and Public Health) โรงเรียนแพทย์ด้านหูอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยได้ร่วมมือในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย ที่ได้จัดทำโครงการอบรมแพทย์เฉพาะทางด้านการได้ยินในผู้สูงอายุ โดยใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการจัดอบรมอีกด้วย