บำรุงราษฎร์ เปิด ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร’

26

รพ.บำรุงราษฎร์ ผนึกศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร’ พร้อมวินิจฉัยและรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับโรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารอย่างแม่นยำตรงจุด

เนื่องด้วยทั่วโลกมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ภาวะกลืนลำบาก ลำไส้แปรปรวน (IBS), อาการปวดท้องอาเจียนที่อาจมีสาเหตุจากการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กผิดปกติ, อาการท้องผูกเรื้อรัง จากการทำงานของลำไส้ใหญ่ หรือกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักผิดปกติ รวมถึงภาวะที่กลั้นอุจจาระไม่ได้

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ด้วยระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งระบบของร่างกายที่มีความสำคัญมาก ซึ่งมีผลต่อการสร้างคุณภาพชีวิตและไม่ควรละเลยที่จะดูแล จากตัวเลขการรักษาที่บำรุงราษฎร์พบว่ามีผู้ป่วยต่างชาติที่เป็นโรคกรดไหลย้อนถึง 50-60% ขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยเป็นกรดไหลย้อน 10% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลดังกล่าว “ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร” (Gastrointestinal Motility Center) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงได้ก่อตั้งขึ้น

“ซึ่งถือเป็นเกียรติของบำรุงราษฎร์ที่ได้ผนึกความร่วมมือกับ ‘ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร’ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของบำรุงราษฎร์ในด้านความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเป็นการต่อยอดไปอีกขั้นของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย” ภญ. อาทิรัตน์ กล่าว

ผศ. นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า การก่อตั้งศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร นี้ สามารถหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงได้ตั้งแต่อาการแรกเริ่ม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์ ทำให้บำรุงราษฎร์สามารถส่งมอบการบริบาลดูแลป้องกันและรักษาได้ครอบคลุมทั้งโรคที่พบบ่อย โรคที่มีความรุนแรงหรือซับซ้อนเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารแบบ One Stop Service และเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้

โดย ‘ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความเป็นเลิศของโรงเรียนแพทย์ที่เดียวและเป็นอันดับหนึ่งในไทยที่ให้บริการตรวจและรักษาความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นสถาบันแห่งแรกที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นสถาบันฝึกอบรมและผลิตแพทย์ รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยข้อมูลจากฐานผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารสามารถวางแผนการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น

ศ. นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการคล้ายคลึงกับหลายโรค ทำให้การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ง่ายนัก จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการของแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเข้ามาช่วยตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และนำไปสู่การรักษาที่ถูกวิธี

อาทิ โรคกรดไหลย้อน มักมีอาการแสบร้อนหน้าอกและเรอเปรี้ยว แต่ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการของโรคหูคอจมูก เช่น แสบคอ เจ็บคอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง หรืออาการทางโรคปอด เช่น ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอกที่หาสาเหตุไม่พบ, โรคอะคาเลเซีย เป็นโรคที่ทำให้กลืนลำบาก มีสาเหตุมาจากการสูญเสียเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของหลอดอาหารและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง, ภาวะการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง กลั้นอุจจาระไม่ได้

นอกจากนี้ภาวะท้องอืดแน่นท้องเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ และไม่สามารถพบความผิดปกติได้จากการส่องกล้อง หรือโรคกระเพาะอาหารที่ตรวจไม่พบสาเหตุ ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า ปวดท้องหรืออืดแน่นท้องโดยไม่รู้สาเหตุ โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น

โรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก โดยอาการอาจจะรุนแรงรบกวนคุณภาพชีวิต และเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาแต่เนิ่นๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร โรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุของโรค แต่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขอนามัยที่ไม่ดีพอ ความเครียด และบางโรคเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ทำให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ แพทย์ผู้ชำนาญการจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่นำมาตรวจวินิจฉัยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้มีความแม่นยำและให้การรักษาได้อย่างตรงจุด เช่น เทคโนโลยีเพื่อตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และการตรวจการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก, การวัดปริมาณน้ำลาย เพื่อดูการทำงานของต่อมน้ำลาย, การทดสอบไฮโดรเจนทางลมหายใจ, การตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมง

สำหรับการรักษาโดยการฝึกขับถ่ายให้เป็นธรรมชาติ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกและกลั้นอุจจาระไม่ได้ โดยผู้ป่วยท้องผูกที่รับประทานยาระบายแล้วอาการไม่ดีขึ้น ประมาณ 40% เกิดจากการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี แพทย์และพยาบาลจะช่วยสอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะเบ่งและคลาย นำไปสู่การรักษาให้หายขาดได้