4 องค์กร ร่วมพัฒนาระบบรับรอง “องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ”

82

พิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ระหว่าง 4 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ(มวคบ.)

โดย นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า  สคบ. เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่มีภารกิจการดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับคนไทยกว่า 60 ล้านคน และชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอีกปีละกว่า 30 ล้านคน การทำให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้ในการเลือกสินค้าและบริการเป็นสิทธิพื้นฐานที่ต้องตระหนัก ดังนั้น การมีองค์ผู้บริโภคที่รวมกลุ่มกันเพื่อรวมพลังในการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จะช่วยเติมเต็มกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดของภาครัฐ  โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 46 ได้บัญญัติให้รัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ สคบ.ได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.สภาผู้บริโภค ที่ผ่านการประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบเจตนารมณ์ตาม ม.46 แล้ว  ทั้งนี้ องค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพ จะเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะมีทั้งความรู้และความเป็นมืออาชีพในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยองค์กรผู้บริโภคคุณภาพเหล่านี้ จะเข้าไปเป็นสมาชิกของสภาผู้บริโภค ที่จะมีขึ้นตาม ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  จะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้  เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับ โดยความร่วมมือของทุกองค์กร สสส. ได้ทำงานร่วมกับทั้ง 3 องค์กร ในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 โดย สสส. ได้สนับสนุนศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มวคบ. พัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการรับรองคุณภาพองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในองค์กรผู้บริโภค  โดยในปี 2561 มีองค์กรผู้บริโภคที่สมัครลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมในกระบวนการรับรองคุณภาพแล้วกว่า 300 องค์กร

“องค์กรผู้บริโภคในต่างประเทศ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่มีการร้องเรียนต่างๆ  เพราะภาครัฐจะมีข้อจำกัดด้านกำลังคนและการกระจายจุดบริการรับ-แก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน ส่งผลให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังได้อย่างกว้างขวาง แต่ในประเทศไทย ยังมีข้อติดขัดในหลายด้าน สสส. จึงเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาโมเดลการเสริมศักยภาพขององค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนในบทบาทการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสุขภาพ เพื่อให้เห็นว่าการมีองค์กรผู้บริโภคคุณภาพที่มีความเข้มแข็งด้านวิชาการและมีความเข้าใจ จะมีส่วนช่วยปิดช่องว่างงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ โดย สสส. คาดหวังว่า  ในระยะยาวรัฐจะเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้องค์กรผู้บริโภคเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับกลไกภาครัฐได้ ซึ่งจะช่วยให้กลไกของรัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะลดภาระจากการรับ-แก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน รายบุคคลลง” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่คณะเภสัชศาสตร์ เป็นแหล่งความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ ทางคณะร่วมกับ มวคบ. มีความยินดีอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับทุกองค์กรตามบันทึกข้อตกลงนี้  และตั้งความหวังให้ผลจากการดำเนินงานนี้  ได้มีส่วนปลูกฝังความตระหนักในสิทธิและสำนึกของการใช้สิทธิของผู้บริโภคในการปกป้องดูแลสุขภาพของตน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและลดภัยอันตรายจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ที่มีเกิดขึ้นเป็นข่าวในสื่อต่างๆ เกือบทุกวันในปัจจุบัน