ศาลแพ่งสืบพยานคดี 2 ผญ.นักปกป้องสิทธิฟ้องแพ่งกองทัพบกและสำนักนายกฯกรณีสนับสนุนงบประมาณทำไอโอเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายนักปกป้องสิทธิฯ เสร็จสิ้นแล้ว พร้อมนัดอ่านคำพิพากษา 16 ก.พ.ปีหน้า “อังคณา”เชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความยุติธรรม ขณะที่ “อัญชนา” ระบุอยากให้คดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาปกป้องตนเองจากรัฐได้ ด้านทนายความหวังคำพิพากษาในคดีจะเป็นนิมิตหมายให้คดีอื่นๆ ที่ถูกกระทำโดยรัฐและปกปิดไว้ถูกตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการมากยิ่งขึ้น
ศาลแพ่งรัชดาได้นัดสืบพยานจำเลยครั้งสุดท้ายในคดีที่ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ(UN Human Rights Expert- WGEID) และอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กรณีสนับสนุนการทำไอโอเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com (http://pulony.blogspot.com/) โดยครั้งนี้เป็นการสืบพยานจำเลย 3 ปาก คือ ตัวแทนจากสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในส่วนงบประมาณของ กอ.รมน.ส่วนกลาง
บรรยากาศในการสืบพยานในครั้งนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยทนายของ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ซักค้านในสามประเด็นหลักที่พยานฝ่ายจำเลยนำสืบคือ ประเด็นที่มีการอ้างถึงผลการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการสอบสวนกรณีนี้ ประเด็นรายละเอียดเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนกับเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com และประเด็นอื่นๆ ที่พยานฝ่ายจำเลยยืนยันว่าไม่ได้มีการดำเนินการปฏิบัติการข่าวสาร และมีการติดตามเฝ้าระวังเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com เพราะเป็นเว็บไซด์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและกระทบต่อความมั่นคง
สัญญา เอียดจงดี ทนายความให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ ว่า จำเลยนำพยานเข้าสืบสามปากหลัก ๆ ซึ่งเป็นพยานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนักประชาสัมพันธ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนที่ดูแลด้านงบประมาณ 1 ท่าน และจาก กอ.รมน.ภาค 4 อีก 2 ท่าน โดยเนื้อหาโดยรวมเน้นไปที่การยืนยันว่ากองทัพและกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณลงไปในรายละเอียดในการสนับสนุนกับเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com เลยและก็ยังยืนยันว่าในส่วนของเรื่องการทำรายงานที่มีประเด็นนำมาสู่การอภิปรายในรัฐสภาในเรื่องของการสรุป 140 เรื่องในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามเป็นเพียงการรวบในเรื่องทั่ว ๆ ไป เนื่องจากกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั้นมีการเฝ้าระวังเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com อยู่แล้ว
ทนายความกล่าวว่า จากการที่เราสอบถามไปในรายละเอียดและมีเอกสารไปถามค้านเขาทำให้ปรากฏว่าสิ่งที่เขาเฝ้าระวังมันมีพิรุธเพราะเอกสารที่นำเสนอนั้นมีเพียงครั้งเดียวที่มีการพูดถึง Pulony.blogspot.com แต่เป็นการพูดถึงในแง่ที่คล้ายกับเป็นการนำเสนอข่าวที่อวยรัฐ และในครั้งอื่นในปีพ.ศ. 2561-1562 กลับไม่ปรากฏว่ามีการนำเสนอข้อมูลว่ามีการทำรายงานตรวจสอบว่า Pulony.blogspot.com อยู่ในบัญชีเฝ้าระวัง แต่กลับมีชื่อของโจทก์ที่ 2 คือ คุณอัญชนา และสื่อมวลชนบางสำนักเช่น ศูนย์ข่าวอิศรา ศูนย์ข่าว Manager ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นสื่อฝ่ายตรงข้ามและเป็นแนวร่วมฝ่ายตรงข้ามอยู่ในเอกสาร ทำให้เราเห็นว่าข้ออ้างที่บอกว่า Pulony.blogspot.com อยู่ในลิสต์ของการเฝ้าระวังไม่น่าจะเป็นความจริง
สัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า เรานำเสนอข้อมูลได้ค่อนข้างที่เกือบจะสมบูรณ์ และเรามาไกลกว่าสิ่งที่เราเริ่มต้นไว้ สิ่งที่เราได้จากสำนวนพยานหลักฐานรวมถึงบุคคลที่มาให้ข้อมูลกับศาลลงลึกไปจนถึงว่าเขาใช้เว็บไซด์อะไรชื่ออะไรวิธีการอย่างไร มีเว็บแฝดอย่างไรมีเว็บในลักษณะปิดลับอย่างไร ซึ่งถ้าศาลดูดีๆแล้วชั่งน้ำหนักดีๆ การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าไม่เคยทำไม่ใช่ แต่เมื่อดูหลักฐานโจทก์ที่เราได้นำเสนอในศาลไปแล้วนั้นไปถึงหลักฐานที่มีสามารถต่อจิ๊กซอร์และชี้เป้าได้ค่อนข้างชัด
“หวังว่า 16 ก.พ. ปีหน้าเราจะได้เห็นคำพิพากษาที่ดีๆ ไม่มองแต่รัฐเอาอะไรมาให้ศาล ศาลก็เขียนตามนั้น ศาลต้องมองไปถึงว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นอย่างไร โจทก์เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้ผลกระทบจากการถูกใช้ปฏิบัติการทางด้านข่าวสารมาด้อยค่าในลักษณะดังกล่าวนี้ ต่อไปถ้าปล่อยให้กระบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้ตนคิดว่าปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะไม่จบ ที่สำคัญแม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ศาลเห็น ถ้าศาลดูภาพรวมแล้วมีความกล้าหาญเพียงพอในการที่จะทำคำพิพากษาในลักษณะก้าวหน้าก็จะเป็นนิมิตหมายให้คดีอื่นๆ ที่จะตามมาที่ถูกกระทำโดยรัฐและปกปิดไว้มันน่าจะถูกตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการมากยิ่งขึ้น” ทนายความระบุ
ขณะที่สุรชัย ตรงงาม ทนายความระบุเพิ่มเติมว่า อาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอยเสมอ เราสามารถจับร่องรอยนั้นได้หรือเปล่า การกระทำที่ไม่ถูกต้องแม้จะปกปิดให้ลึกลับซับซ้อนอย่างไรก็ทิ้งร่องรอยไว้เสมอ คดีนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่าแม้ร่องรอยเพียงไม่มาก แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพิสูจน์มันก็จะสำเร็จได้และจะกลายคดีตัวอย่างที่จะทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักถึงผลร้ายหากจะมีการละเมิดสิทธิของนักต่อสู้ทั้งหลายต่อไป
ด้านอัญชนากล่าวว่า ” ดีใจที่มาถึงวันนี้ ดีใจที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกคนในสังคม และแม้ว่าผลจะเป็นอย่างไรแต่วันนี้เราได้ร่วมกันทำให้ข้อมูลที่มันน่าตกใจและน่ากังวลใจเปิดเผยในศาล และครั้งต่อไปก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทำให้สังคมร่วมตรวจสอบภาครัฐมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของด้านความมั่นคง อยากให้กรณีของตนเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาปกป้องตนเองได้ คุณมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองได้ และคุณสามารถที่จะตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐได้”
สิ่งสำคัญทำให้เห็นความยากลำบากของทนายของโจทก์ในการที่จะหาพยานหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ในสิ่งที่รัฐทำ ซึ่งการพิสูจน์รัฐมีกลไกมีบุคคลมีทรัพยากรมากมาย แต่เราพบว่าถึงแม้จะมีความยากลำบากแต่ก็ทำให้เราได้เห็นว่าอย่างน้อยมันมีจุดบอดในกลไกภาครัฐ กลไกการทำงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองบประมาณ การใช้สิทธิของตนเป็นการที่ประชาชนสามารถที่จะลุกขึ้นมาตรวจสอบเรื่องของการใช้งบประมาณของรัฐและได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบการของบประมาณของรัฐได้
ขณะที่อังคณา นีละไพจิตร ให้ความเห็นต่อการสืบพยาน 2 ปากสุดท้ายในครั้งนี้ว่า จำเลยได้อ้างรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ระบุว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานเป็นที่ยุติแน่ชัดว่าจำเลยใช้งบประมาณของรัฐในการด้อยค่านักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในส่วนตัวมีความเห็นว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ อาจไม่มีความรอบด้านเพียงพอ เนื่องจากในการตรวจสอบ กสม. ไม่ได้เชิญผู้เสียหาย หรือผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกด้อยค่ามาให้ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ดี กสม. ได้มีข้อสังเกตว่ามีการใช้บัญชีในสื่อสังคมออนไลน์เช่นเฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นบัญชีที่ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทำการคุกคามประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ให้ร้าย เสียดสี ดูแคลนเพศสภาพ และสร้างความเกลียดชังที่อาจเป็นการโจมตีนักการเมือง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการจริง
ส่วนพยานปากสุดท้าย คือ ผอ. สำนักงบประมาณ ของ กอ.รมน. ส่วนกลาง ซึ่งเบิกความต่อศาลว่าในการเขียนงบประมาณภายในของ กอ.รมน. เป็นการเขียนโดยที่ไม่ระบุรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ จึงมีข้อสังเกตุว่าโดยปกติในการใช้งบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องระบุรายละเอียดของการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีของราษฎร เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ จึงมีข้อสงสัยว่าเพราะเหตุไร กอ.รมน. จึงไม่จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายโดยระบุรายละเอียดของการใช้งบประมาณไว้
“คดีนี้ส่วนตัวในฐานะโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการถูกใส่ร้าย ด้อยค่า และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากการปกป้องสิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความยุติธรรม โดยให้จำเลยชดใช้เยียวยาความเสียหายทางจิตใจ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประกันว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่คุกคามและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป” อังคณาระบุ
ด้านปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International ระบุว่า “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลจะให้ความยุติธรรมต่อการใช้สิทธิอันชอบธรรมของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั้งสองท่าน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หากผลของคดีออกมาดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมสำหรับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ก็จะปูทางให้มีการเอื้ออำนวยให้มีการเข้าถึงความยุติธรรมของนักปกป้องสิทธิฯท่านอื่นๆด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ได้เสนอแนะให้กับรัฐบาลไทยและกระบวนการยุติธรรมว่า ให้เสริมความเข้มแข็งให้ระบบยุติธรรม ตอบสนองต่อเพศภาวะและมีความละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเยียวยาทางกฎหมายสำหรับผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิ รวมถึงผู้หญิงมุสลิมจังหวัดชายแดน ภาคใต้ให้รับรู้ถึงการเยียวยาที่มีอยู่ภายใต้ระบบยุติธรรมทางอาญา”
ทั้งนี้ศาลแพ่ง (รัชดา) ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 16 ก.พ. 2566