ตะลุยแดนเหมือง ไปเมืองมอญ อัพเดท 12 จุดเช็คอินกาญจนบุรี…ฟินดีแท้

812

ขุนเขาและสายน้ำ พร้อมด้วยแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สะท้อนความงดงามที่หลากหลายของจังหวัดกาญจนบุรี แดนสวรรค์ตะวันตกที่เต็มไปเรื่องราวอันน่าค้นหา ธรรมชาติสุดอลังการ ย้อนแห่งวันวานเปี่ยมมนต์เสน่ห์ เผยมุมเร้นลับที่ชวนให้เข้าไปสัมผัส ท่ามกลางศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนอันเป็นเอกลักษณ์

1.วิวสูงมุมใหม่ สกายวอล์กกาญจนบุรี

กินลมชมวิวมุมมองใหม่ที่ “สกายวอล์กกาญจนบุรี”  ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2565  ริมท่าน้ำในตัวเมืองกาญ เป็นสะพานสูง 12 เมตร ระยะทาง 150 เมตร ชวนกันเดินขึ้นอาคาร 4 ชั้นแล้วออกไปชมวิวมุมสูงได้อย่างเต็มตา มองเห็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อย พระพุทธรูปปางประทานพร วัดถ้ำเขาแหลม หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งสองฝั่งจะมีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงาม เบื้องล่างเป็นผืนน้ำขนาดใหญ่ มีเรือนแพของบรรดาร้านอาหารและชุมชนริมน้ำเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ

เมื่อมาถึงที่ตั้งของสกายวอล์กเป็นอาคาร 4 ชั้นขนาดเล็ก จะต้องทำการซื้อบัตรเข้าชม พร้อมรับรองเท้าผ้าซึ่งมีให้เลือกหลากสี ทั้ง ชมพู เขียว ส้ม น้ำตาล สามารถสวมทับรองเท้าได้เลย หากมีกระเป๋าหรือสัมภาระให้ฝากไว้ในล็อกเกอร์   นำขึ้นไปได้แค่กล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือเท่านั้น สวมรองเท้าแล้วก็เดินขึ้นบันใดไปชั้น 4 แล้วออกสู่ทางเดินกระจก มาถึงจุดกลางสะพานก็เลือกได้เลยว่าจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ไม่ว่าทางไหนก็สวยงามไปคนละแบบ

2.สายแคมป์ไปกาญ จุดชมวิวเนินสวรรค์

จุดชมวิวเนินสวรรค์ ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณที่ตั้งสำนักงานและแปรรูปเหมืองตะกั่วในอดีต ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวบนเนินเขา รถทุกชนิดสามารถขับมาถึงได้ ใครที่จะไปเข้าอุโมงค์เหมืองแร่จะต้องขับรถมาจอดบริเวณนี้ เพื่อเปลี่ยนไปขึ้นรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อพร้อมผู้นำทาง

บนเนินสวรรค์มีลานกางเต็นท์ขนาดย่อม รับได้ประมาณ 50 หลังกำลังพอดี กลางวันมีลมพัดเบา ๆ อากาศเย็นสบาย กลางคืนก็หนาวลงมากน้อยตามฤดูกาล  ฤดูหนาวก็จะมีทะเลหมอกปกคลุมยามเช้า สายแคมป์ปิ้งคงชอบใจเพราะเงียบสงบมาก  (มีเพียงห้องน้ำ ไฟส่องสว่าง และเจ้าหน้าที่คอยดูแล)

3.ตื่นตาตื่นใจ ผจญภัยในอุโมงค์เหมืองแร่   

“อุโมงค์สามมิติ” หรือ “อุโมงค์ ดร.ผล กลีบบัว” เป็นอุโมงค์เหมืองแร่ส่วนหนึ่งของเหมืองสองท่อ ใน อ.ทองผาภูมิ แหล่งผลิตแร่ตะกั่วใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เส้นทางในอุโมงค์มีหลายช่วง เชื่อมต่อถึงกันอยู่ภายใต้ภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ช่วงของอุโมงค์ที่มีความยาวมากที่สุดคือ 2 กิโลเมตร มีความแอดเวนเจอร์เบา ๆ สัมผัสความลึกลับเหมือนผ่านประตูมิติกลับไปยังอดีต

การเข้าชมอุโมงค์เหมืองแร่จะต้องมีเจ้าหน้าที่พาเข้าไปเท่านั้น ด้านในไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ แต่ละถ้ำไม่มีแสงไฟ หากเป็นถ้ำระยะสั้นสามารถลงเดินเข้าไปได้ ส่วนถ้ำระยะยาวอากาศจะเย็นลงจนมีความชื้นสูง มีสายน้ำตามซอกหินไหลผ่านตลอดเวลา จนบางจุดเกิดเป็นหินงอกหินย้อยอันงดงาม

ชมรมท่องเที่ยวสหกรณ์นิคม โทร.08 1362 8857

4.ยามเช้าที่อุ่นใจ สะพานแขวนหลวงปู่สาย 

หากมาเยือน อ.ทองผาภูมิ ต้องไม่ควรพลาดการไปเดินเล่นตลาดเช้า ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับลานชมวิวริมแม่น้ำแควน้อย ที่ตั้งของ “สะพานแขวนหลวงปู่สาย” ยามเช้าบรรดาพระสงฆ์จากวัดท่าขนุน จะเดินออกรับบิณฑบาตและผ่านบริเวณสะพานทั้งขาไปและขากลับ  หากมาในช่วงหน้าหนาวจะเห็นหมอกยามเช้าปกคลุมสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำบุญตักบาตร ทั้งบริเวณหมู่บ้าน ตลาด และบนสะพานแห่งนี้

5.เจดีย์พระธาตุโบอ่อง กับตำนานผู้หญิงห้ามเข้า

เกาะเล็ก ๆ ภายในเขื่อนวชิราลงกรณ มีพื้นที่ราว 5,000 ไร่ เป็นถิ่นอาศัยของชาวบ้านโบอ่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สามารถเดินทางด้วยเรือหางยาวจากบ้านท่าแพริมอ่างเก็บน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ ใช้เวลาราว 40 นาที  สภาพภายในหมู่บ้านมีความเงียบสงบ มีชาวบ้านประมาณ 1,200 คนอาศัยอยู่ที่นี่ บ้างก็อยู่บนแพ  บ้างก็อยู่บนเกาะในตัวหมู่บ้านมีกลุ่มแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในหมู่บ้าน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 แผง เพียงพอสำหรับการใช้งานบนเกาะทั้งวันทั้งคืน

 

“เจดีย์พระธาตุโบอ่อง” ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีบึงบัวล้อมรอบ ตัวเจดีย์เป็นศิลปะแบบพม่า มีสะพานทอดยาวข้ามไป แผงกั้นบริเวณต้นสะพานระบุว่า “ห้ามผู้หญิงผ่าน” นั่นหมายถึงความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณว่า หากผู้หญิงข้ามไปจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับหมู่บ้าน

ติดต่อสอบถามท่องเที่ยวบ้านโบอ่อง

“สารวัตรฟอร์ด” สารวัตรกำนัน ต.ปิล็อก โทร.06 4981 8964

บรรยากาศในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ

 

6.ล่องเรือเขื่อนวชิราฯ แวะกินปลาแพมาลัย

เขื่อนวชิราลงกรณ เดิมมีชื่อว่า เขื่อนเขาแหลม เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย เป็นเขื่อนอเนกประสงค์โดยมีวัตถุประสงค์ด้านผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก มีอาณาจักรกว้างขวางด้วยพื้นที่ 388 ตารางกิโลเมตร งดงามด้วยฉากแห่งขุนเขาและขอบฟ้ากว้าง จึงเป็นที่นิยมในการล่องเรือชมธรรมชาติ  มีแพที่พักและร้านอาหารให้บริการหลายแห่ง

บรรยากาศบนแพมาลัย มีทั้งส่วนร้านอาหาร ร้านของชำ และที่พัก สอบถามมาแล้วว่ากลางคืนลมพัดเย็นสบาย ไม่มียุง

ไม่ไกลจากหมู่บ้านโบอ่อง นั่งเรือราว 15-20 นาที เป็นที่ตั้งของ “แพมาลัย” บริการที่พักและร้านอาหาร รวมทั้งร้านของชำบนแพ โดดเด่นด้วยวิวที่ใกล้กับธรรมชาติแบบสุด ๆ มีห้องพักบนแพสไตล์โฮมสเตย์ อยู่กินอย่างเรียบง่ายสไตล์ชาวแพ ที่นี่มีการเลี้ยงปลาในกระชัง เมนูเด็ดก็คือบรรดาปลาสด ๆ ทั้งหลาย รสชาติเข้มข้นถูกใจ ใครที่รักธรรมชาติ รักความเงียบสงบ เหมาะกับที่นี่มาก ๆ

ยามเช้าที่บ้านอีต่อง

 

7.หมู่บ้านอีต่อง ยิ่งมองยิ่งมีเสน่ห์

หมู่บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อีกแหล่งเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอุโมงค์เหมืองแร่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

ด้วยความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 1,000 เมตร ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงค่ำ สายอีโคชอบมาก เพราะเป็นหมู่บ้านในหุบเขา อยู่กลางป่ากลางดง มีเส้นทางเดินขึ้นเขาชมธรรมชาติท้าท้ายแข้งขา ที่ถูกใจถูกจริตผู้พิชิตมาก ๆ ก็เห็นจะเป็นเขาช้างเผือก ซึ่งต้องมาเริ่มต้นกันที่หมู่บ้านแห่งนี้

“หมู่บ้านอีต่อง” เป็นชุมชนไทย-เมียนมาร์ เพราะอยู่สุดชายแดน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวแบ่งเขต  ยามเช้าที่บ้านอีต่อง จะมองเห็นสายหมอกปกคลุมบนยอดเขา หากเดินขึ้นไปบริเวณ “วัดเหมืองแร่ปิล็อก” หรือ “วัดเหมืองปิล็อก” จะมองเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น  ในทุกเช้าพระสงฆ์และสามเณร จะออกบิณฑบาต นักท่องเที่ยวจึงเฝ้าคอยยามเช้าที่งดงามนี้อยู่เสมอ

เย็นวันนี้ เมฆฝนปกคลุมหนาแน่นมาก
8.ขึ้นเนินช้างศึก จุดชมวิวชิลได้ทั้งวัน

หากมองจากตัวหมู่บ้านอีต่อง เราจะเห็นทิวเขาที่รายล้อม หนึ่งในนั้นคือยอดดอยปิล็อก หรือที่เรียกว่า “เนินช้างศึก” จุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นที่ตั้งฐานของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 135 สถานที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,053 เมตร

จากบ้านอีต่องเราสามารถเดินเท้าเป็นระยะทางราว 2 กิโลเมตรไปยังเนินช้างศึก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและพละกำลังกันมากหน่อย แต่ก็มีอีกทางเลือกในการนั่งรถขึ้นไป โดยใช้รถบริการจากหมู่บ้านที่มีตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นในการชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ค่าโดยสารท่านละ 50 บาท เต็มเมื่อไหร่ก็ออก หากจะเหมาก็คันละ 500 บาท นั่งได้ประมาณ 10 คน

น้ำตกจ๊อกกระดิ่น
9.น้ำตกจ๊อกกระดิ่น อ่างมรกตแห่งปิล็อก

น้ำตกจ๊อกกะดิ่น อยู่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้านอีต่อง  สามารถขับรถเข้ามาถึงที่ทำการด้านหน้า แล้วเดินต่อไปประมาณ 300 เมตร เมื่อถึงสะพานไม้ข้ามลำธาร ก็จะพบกับโถงน้ำตกกลางหุบเขากับแอ่งน้ำเบื้องล่างที่ใสแจ๋ว

เดิมน้ำตกแห่งนี้เรียกว่า “ก๊อกกระด่าน” คำว่า “จ๊อก” หรือ “ก๊อก” หมายถึง หิน ส่วนคำว่า “กระดิ่น” หรือ “กระด่าน” หมายถึง น้ำตก รวมกันจึงหมายถึงน้ำตกที่ไหลผ่านซอกหินผา มีแหล่งกำเนิดเป็นน้ำที่ผุดขึ้นจากภูเขาอีปู่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ทังสเตน  แอ่งน้ำตกจึงมีสีเขียวอมฟ้า เข้ามาเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี

10.สะพานมอญ สะท้อนเรื่องราวแห่งศรัทธา

สะพานมอญ หรือ สะพานอุตตามานุสรณ์ เป็นสะพานแห่งน้ำใจจากความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ หากย้อนไปในอดีตปี 2556 สะพานมอญเดิมเคยถูกน้ำป่าปะทะจนขาด แต่ก็อาศัยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านและทหารช่างจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ช่วยกันซ่อมแซมจนสำเร็จ

ปัจจุบันสะพานมอญเป็นจุดท่องเที่ยวที่คึกคักตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น  โดยเฉพาะกิจกรรมตักบาตรยามเช้า  ทุกคนจะร่วมแต่งกายแบบคนท้องถิ่นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ  ภาพที่ยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์คือการเทินของบนศีรษะ การประแป้งเป็นลวดลายแบบพม่า และมงกุฎดอกไม้ที่น่ารักน่าชัง เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ชาวมอญที่ยังสร้างสีสันแห่งความชื่นตาชื่นใจให้กับผู้มาเยือนเสมอ

โบสถ์ของวัดวังก์วิเวการาม (เดิม) หากเป็นช่วงหน้าแล้ง น้้ำแห้งสามารถเดินมาชมได้
11.ล่องชมวัดจมน้ำ ย้อนอดีตแห่ง “สามประสบ”

ในอดีตบริเวณที่เห็นเป็นแม่น้ำของชุมชนชาวมอญแห่งนี้ เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำซองกาเรีย, แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “สามประสบ” สมัยก่อนมีวัดประจำหมู่บ้านคือ “วัดวังก์วิเวการาม” (เดิม)   หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” เพราะเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ “หลวงพ่ออุตตมะ” จนปี 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ส่งผลให้น้ำท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งตัวหมู่บ้าน และวัด จนทำให้มีการย้ายวัดและหมู่บ้านขึ้นไปบนเนินเขา

ช่วงหน้าน้ำนักท่องเที่ยวสามารถลงเรือเพื่อล่องชมวัดใต้น้ำบริเวณท่าเรือสะพานมอญ หลังจากชมวัดใต้น้ำแล้ว เรือจะพาเราไปขึ้นอีกฝั่งของแม่น้ำ  เดินขึ้นเนินไปอีกเล็กน้อยเป็นที่ตั้งของ “วัดสมเด็จ” สร้างโดยพระครูวิมลกาญจนคุณ เจ้าคณะตำบลหนองลู เนื่องจากอยู่บนที่สูงจึงไม่จมน้ำ แต่ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งย้ายอำเภอสังขละบุรีในช่วงสร้างเขื่อน ภายในอุโบสถเก่าแก่มีความงดงาม รอบโบสถ์มีต้นไทรปกคลุม ภายในมีพระประธาน สามารถเข้าไปกราบไว้เพื่อเป็นสิริมงคล

12.กราบหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม

เมื่อมาเยือน อ.สังขละบุรีแล้ว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่ออุตตมะที่ “วัดวังก์วิเวการาม” (ปัจจุบัน) ที่สร้างด้วยศิลปะแบบมอบผสมไทยประยุกต์ ภายในวิหารเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ  และมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของหลวงพ่อนั่งอยู่บนบัลลังก์ ภายในตัววัดยังมีศิลปะที่งดงามทรงคุณค่าอีกหลายจุด อาทิ วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ปางมารวิชัย หนัก 9 ตันหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อหยกขาว

ที่เที่ยวเมืองกาญจนบุรี ยังมีอีกมากมายหลากหลายแบบ ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจแดนสวรรค์ตะวันตก www.facebook.com/tatkan