แพทย์เคลียร์กลลวงบุหรี่ไฟฟ้า-ไฮบริด ย้ำอันตรายกว่ามาก  

1347
Background image created by Freepik

ขึ้นชื่อว่าบุหรี่ มันก็คือยาเสพติดชนิดหนึ่งที่ไม่ควรเข้าใกล้ แต่หลายคนก็ยังคิดว่า มีบุหรี่ชนิดที่สูบแล้วจะได้รับอันตรายน้อยกว่า แถมยังมาในรูปแบบของค่านิยมแบบผิดๆ นอกจากบุหรี่ราคาแพงที่จับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงแล้ว ยังมีบุหรี่แบบใหม่ ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า และ บุหรี่ไฮบริดออกมาหากำไรบนความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพิ่มค่านิยมแบบผิดๆ ให้กับสังคม โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน  บ้างก็ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนทางหนึ่งในการเลิกบุหรี่ เพราะเชื่อว่ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน

เรื่องนี้จึงต้องออกมาชี้แจงแถลงการณ์กันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และผู้ที่จะพูดเรื่องนี้ให้มีความน่าเชื่อถือที่สุดก็คือคุณหมอ ล่าสุดมีการประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 19   ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี   ในวงสนทนาหัวข้อ Change 4 Health: “เปลี่ยน” ด้วยคุณภาพ เพื่อสุขภาพ เปี่ยมคุณธรรม รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมีพัฒนาการไปไกลมากเพื่อหาผลกำไรบนความสุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ใช้ โดยสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบออกเป็น 3 กลุ่มคือ หนึ่ง-บุหรี่ก้นกรอง สอง-บุหรี่ไฟฟ้า และสาม-บุหรี่ไฮบริด

“ยาสูบประเภทนี้มีศัพท์เฉพาะว่า Heat not Burn Device บุหรี่แบบเดิมใช้ไฟแช็คจุดที่ปลายมวน บุหรี่ไฟฟ้าไม่ต้องพกไฟแช็ค แค่ชาร์จไฟ แล้วเกิดความร้อนไประเหิดน้ำยาที่อยู่ในอุปกรณ์ออกมาเป็นไอ แต่แบบไฮบริดหมายความว่าสามารถใช้บุหรี่แบบมวนได้ แต่ไม่ต้องซื้อไฟแช็ค แค่ซื้ออุปกรณ์รุ่นใหม่ที่เรียกว่า Heat not Burn Device แล้วเสียบปลั๊กชาร์จอุปกรณ์ แล้วเอามวนบุหรี่ธรรมดาเสียบเข้าไปในฐานของอุปกรณ์นี้ กดสวิชต์ สิ่งที่อุปรกรณ์ทำคือจะใช้ความร้อนประมาณ 350 องศาเซลเซียสให้ความร้อนไปที่มวนบุหรี่จนเกิดไอแบบบุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่จุดไฟเผา ปกติถ้าจุดไฟจะเกิดความร้อนประมาณ 800 องศาเซลเซียสที่ปลายมวน แล้วดูดเอาควันที่มีความร้อนสูงเข้าไป

แต่ Heat not Burn Device จะเหลือแค่ 350 องศาเซลเซียส แล้วสูดเอาสารระเหยในใบยาสูบเข้าไปในปอด ได้ทุกอย่างครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเรียกว่าไฮบริด มวนจะหดสั้นลงเรื่อยๆ มีขี้เถ้านิดหน่อยในอุปกรณ์ ดึงทิ้ง แล้วเอามวนใหม่มาจุด นี่คือลูกครึ่ง”

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยดังที่ผู้ผลิตพยายามป้อนข้อมูลด้านเดียว โดยยกตัวอย่างว่าในบุหรี่มวนมีปริมาณนิโคติน 1 มิลลิกรัม แต่น้ำยาที่ใช้เติมบุหรี่ไฟฟ้า 1 ซีซี มีปริมาณนิโคตินสูงถึง 180 มิลลิกรัม สูงกว่าบุหรี่มวนถึง 180 เท่า

“เมื่อเป็นแบบนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะสามารถเลิกบุหรี่ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่านิโคตินเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงสุดมากกว่าเฮโรอิน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่โดยหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ามักลงเอยเป็น Dual User คือ สูบทั้งสองอย่างและเลิกไม่ได้เลยสักอย่าง”

สอดคล้องกับธามัน เต้พันธ์ อดีตสมาชิกวงดราก้อน ไฟว์ ที่เล่าประสบการณ์ใกล้ตัวว่า เพื่อนของตนที่หวังจะเลิกบุหรี่ด้วยการหันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบัน 28 คนจาก 30 คนติดทั้งสองอย่าง

“ผมว่าบุหรี่ไฟฟ้าน่ากลัว มันเริ่มจากการตลาด บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ที่เห็นอยู่คือไอน้ำ ทั้งที่หน่วยงานทางการแพทย์ก็บอกแล้วว่า อะไรที่เผาแล้วมีควันก็มีพิษหมด สองคือมีกลิ่น มีการเติมสาร บางทีอาจมีการใส่แอมเฟตามีนลงไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวือหวาในการสูบมากยิ่งขึ้น”

ธามันกล่าวด้วยความเข้าใจวัยรุ่นว่า การจะห้ามวัยรุ่นไม่ให้สูบบุหรี่ในยุคนี้ ซึ่งมีความคิดเป็นของตัวเองและชอบทดลองสิ่งใหม่ถือเป็นเรื่องยาก เขาเห็นว่าการที่วัยรุ่นชอบทดลองไม่ใช่เรื่องผิด สิ่งที่สังคมควรทำคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะที่ผู้ใหญ่จะต้องเข้าหาเยาวชนเพื่อทำความเข้าใจและไม่ตีตรา เพื่อดึงเยาวชนเหล่านี้กลับมา

ด้านศรสุทธา กลั่นมาลี หรือถั่วแระ เชิญยิ้ม ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของตนว่า

“ในอดีตผมเคยสูบบุหรี่ ตอนนี้เลิกมาแล้ว 30 ปี ตอนที่เล่นตลก เป็นบรรยากาศที่ไม่มีใครไม่สูบบุหรี่ สาเหตุที่ติดเพราะเพื่อนฝูงเยอะ ขึ้นรถก็สูบ ก่อนขึ้นเวทีก็สูบ เราอยู่ในสังคมแบบนี้ เราจึงเลิกบุหรี่ได้ยากมาก ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเราจะติดบุหรี่ แต่มันมีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทำให้ผมต้องเลิกบุหรี่ ผมเห็นคนอื่นสูบตลอดเวลา ผมถามตัวเองว่าตื่นขึ้นมาเราสูบหรือเปล่า ไม่สูบ กินข้าวเสร็จก็ไม่ต้องสูบ ไปเจอผู้หลักผู้ใหญ่เราก็ไม่กล้าสูบ นี่แสดงว่าเราติดหรือเปล่า เราถามตัวเอง เราก็ไม่ติด ถ้าไม่ติด แล้วทำไมเราไม่เลิก”

ช่วงนั้นธุรกิจคาเฟ่เริ่มซบเซาทำให้คุณถั่วแระเริ่มห่างจากกลุ่มเพื่อนฝูง เขาจึงสามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น จากประสบการณ์ทำให้เขาเรียนรู้ว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการสูบหรือเลิกสูบบุหรี่ แต่เขาก็เชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ

“คนที่เลิกบุหรี่จะมีอาการหงุดหงิด น้ำหนักขึ้นหรือไม่ มันอยู่ที่ใจ ถ้าใจอยากเลิก ผมไม่เชื่อว่าอดบุหรี่แล้วจะต้องกินของหวานเพิ่มขึ้น ต้องหาอะไรมาทดแทนบุหรี่ เพราะตัวผมเอง พอตัดแล้วตัดเลย น้ำหนักก็ไม่เพิ่ม แล้วถ้าใครอยากเลิกผมแนะนำให้ไปออกกำลังกาย”

ในช่วงท้าย รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังกำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนในสังคมไทย อันเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง 4 ประการคือการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารขยะ และการไม่ออกกำลังกาย การละเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ได้ย่อมทำให้สุขภาพดีขึ้น

ฟังแล้วคงได้รับรู้เรื่องราวอันเป็นข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในรูปแบบต่างๆ ส่วนทางเลือกเพื่อสุขภาพ เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล ตราบใดที่การสูบบุหรี่ยังไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย การเลือกตัดสินใจจากพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจก็น่าจะเป็นแนวทางที่ตอบได้ว่า คุณจะเลือกทางไหน