ในช่วง 3 – 4 ปีมานี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แนวคิด ทัศนคติ กระแสสังคม พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทักษะอาชีพที่เรียกได้ว่าเคยเป็นงานนอกกระแสกลับบูมอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น ไรเดอร์ส่งอาหาร, TikToker, ขายของออนไลน์, นักเล่นหุ้น, นักเขียนนิยายออนไลน์ ฯลฯ
หลายคนก็ยังคงเกาะตำแหน่งเหนียวแน่นไม่ไปไหน ค่าตอบแทนเท่าเดิม ชีวิตแบบเดิม ทว่าต้องทนกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็จะได้เห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จกับการใช้ชีวิตอย่างมาก คนที่แค่พออยู่พอกิน ไปจนถึงด้านกลับก็คือคนที่ไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นชิ้นเป็นอันจากการพยายามเอาชีวิตรอดในโลกยุคใหม่นี้เลย และกำลังเอาตัวรอดไปในแต่ละวันอย่างยากลำบากเจียนตาย อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนแต่ละประเภท
ในคนทั้งสามรูปแบบที่กล่าวไปข้างต้น แม้จะมีเรื่องดวงเข้ามาเกี่ยวทำให้แต่ละคนมีระดับความสำเร็จที่ต่างกันไป ถึงอย่างนั้น การมี ‘Soft Skills’ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยงานวิจัยจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด, มูลนิธิคาร์เนกี และศูนย์วิจัยสแตนฟอร์ด ระบุว่า 85% ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการมี Soft Skills ที่ดี โดยหากขาด Soft Skills ไปก็จะทำให้มาตรฐานการทำงานลดลง ประสิทธิภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ลดลง และยังส่งผลกระทบต่อการผลิตบุคลากรใหม่ ๆ ในวงกว้างอีกด้วย
ภายในงาน SOFT SKILLS BOOTCAMP ครั้งที่ 1 “Work Life Enhance” มี Session หนึ่งที่ชื่อว่า The Lost Skills” ซึ่งมี ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “The Lost Skills” พาสำรวจทักษะชีวิตที่ใครหลายคนอาจหลงลืมหรือทำหล่นหายไปเสียแล้ว เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่การอยู่รอด และการประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่
ท่ามกลาง Soft Skills นับพันที่ล่องลอยอยู่ตามโลกอินเทอร์เน็ตและหนังสือคู่มือพัฒนาตัวเอง ทักษะแรกที่ ศ.ดร.นภดลเลือกจะแนะนำกลับเป็นเรื่องเบสิค ไม่ต้องมีชื่อจำยากหวือหวาอย่าง “ทักษะการเรียนรู้” โดยได้ให้เหตุผลว่าในยุคสมัยที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิด เรื่องที่เราเคยสอนเคยเรียนกันในคลาสทุกวันนี้ ปีหน้าอาจล้าสมัยไปเสียแล้ว ฉะนั้นทักษะที่จะซึมซับเรื่องราวใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มสมองอยู่ตลอดเวลาจึงสำคัญ โดยการฝึกตัวเองให้รักการเรียนรู้ โดยหัวใจสำคัญคือการที่เราต้องรู้ว่า เรียนไปแล้วได้อะไร ความรู้ชุดนี้ใช้ประโยชน์ได้จริงไหม เพื่อทำให้การเรียนอะไรสักอย่างมีความหมาย
ในโลกนี้มีความรู้อยู่มากมายหลายศาสตร์ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการได้มีความรู้ติดหัวไว้ยิ่งมากยิ่งดี ดังคำกล่าว ‘Why Choose? When You Can Have Them All’ อยากเก่ง อยากได้ความรู้อะไรก็เลือกช็อปปิ้งแบบบุฟเฟต์จาก Google ไปเลยสิ ทว่าระดับความจำและศักยภาพในการทำความเข้าใจของมนุษย์ก็มีจำกัด หากเทียบกับองค์ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่รอบตัวในตอนนี้ ดังนี้ “ทักษะการเลือก” เพื่อคัดกรองสิ่งที่ควรต้องเรียน และนำมาจัดลำดับความสำคัญเพื่อไม่ให้ตัวเอง Overload จนเกินไปจะดีกว่า
ยุคนี้เป็นยุคที่น่ากลัวสำหรับคนเก่ง เพราะไม่ว่าทักษะใดก็มีวี่แววว่าจะโดนปัญญาประดิษฐ์กับหุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานได้ทุกเมื่อ ทั้งงานสายบัญชี, พิสูจน์อักษร, งานออกแบบ ไปจนถึงงานสายความคิดสร้างสรรค์อย่าง Creative Content หรือนักเขียนบทความ ก็มีข่าวว่ามีเอไอที่สามารถผลิตผลงานลักษณะนี้แทนมนุษย์ได้เช่นกัน ฉะนั้นการรับมือที่ดีที่สุดคือการ Up-Skill & Re-Skill อยู่เสมอ เพื่อสร้าง “ทักษะที่ไม่มีใครมาแทนได้” ให้เกิดขึ้นในตนเอง