ผลสำรวจ Mastercard-CrescentRating Muslim Gen Z: The Next Generation of Travelers[1] ระบุว่า 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมกลุ่ม Gen Z[2] ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมเทียบเท่าการท่องเที่ยวพักผ่อนแบบเดิม ๆ อย่างการช้อปปิ้งหรือกิจกรรมบันเทิง โดยพบว่านักท่องเที่ยวรุ่นใหม่กว่า 32% สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ 16% ที่ยังคงพึ่งพาเงินจากผู้ปกครอง
รายงานยังระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมกลุ่ม Gen Z ต้องการเดินทางท่องเที่ยว โดย 69% วางแผนการท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และ 32% วางแผนใช้เวลาพักผ่อนราว 1-2 สัปดาห์ในจุดหมายปลายทั้งนั้นๆ
ผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเกือบ 1 ใน 3 ยินดีลดการโดยสารเครื่องบิน ในขณะที่ 11% ยินดีจ่ายค่าชดเชยการปล่อยคาร์บอนและ 14% เลือกไปสถานที่ใกล้บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการโดยสารเที่ยวบินระยะไกล เมื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีกว่านักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเป็นผู้ที่ใช้จ่ายอย่างรอบคอบเสมอ จากข้อมูลชี้ว่า 77% ของชาวมุสลิมกลุ่ม Gen Z ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดความยั่งยืน เช่น ลดการโดยสารเครื่องบิน เข้าร่วมกิจกรรมอาสา (หรือท่องเที่ยวพร้อมทำกิจกรรมจิตอาสา) และร่วมสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น เมื่อพิจารณาด้านวิธีการชำระเงินในต่างประเทศ พบว่า 73% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตมากกว่า ในขณะที่ 57% ยังนิยมการใช้เงินสด
“ประชากรกลุ่ม Gen Z ถือได้ว่าเป็นเด็กที่เกิดมาในยุคดิจิทัล พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นชาวดิจิทัลที่พร้อมเปิดรับกับเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งอินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ และเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยตั้งแต่อายุยังน้อย คนยุคนี้ได้กำหนดนิยามของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยรายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแก่ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาจับกลุ่มลูกค้าที่สำคัญนี้ได้” มร.ฟาซาล บาฮาร์ดีน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CrescentRating และ HalalTrip กล่าว
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่าสตรีชาวมุสลิมกลุ่ม Gen Z เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญ โดย 70% เป็นผู้วางแผนท่องเที่ยวของครอบครัว และเกือบ 70% ชื่นชอบกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง เช่น การสัมผัสขนบธรรมเนียมประเพณี มรดกทางวัฒนธรรมและอาหารในท้องถิ่น นอกจากนี้ 63% ยังแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดย 76% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ระบุว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนท่องเที่ยวของพวกเขา บริการที่สอดคล้องกับศาสนาก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยชาวมุสลิมกลุ่ม Gen Z ระบุว่า บริการอาหารฮาลาล ห้องละหมาด และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้องอาบน้ำละหมาด ปัจจัยเหล่านี้เป็น “สิ่งจำเป็น” ที่พวกเขาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว
“เราเล็งเห็นว่าผู้บริโภคทั่วโลกมีความต้องการ การเดินทางเพื่อชดเชยโอกาสการท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปในสถานที่ใหม่ ๆเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยยังให้ความสำคัญกับการเที่ยวแบบยั่งยืนเป็นอันดับแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกและการใช้จ่ายของพวกเขาเป็นอย่างมากในปี 2566 มาสเตอร์การ์ดมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับเครสเซนต์เรตติ้งอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาข้อมูลรายงานการวิจัยที่จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม” มร.ซาฟดาร์ คาน ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสเตอร์การ์ด
รายงานฉบับที่ 24 นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารรายงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้งมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ในการพัฒนาข้อมูลเชิงลึกด้านการท่องเที่ยววิถีมุสลิมที่ช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา ยังได้จัดทำข้อมูล Global Muslim Travel Index ซึ่งเป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับความพร้อมด้านการท่องเที่ยว เทศกาลรอมฎอน รวมถึงวิถีชีวิตแบบอิดในภูมิภาคอาเซียน
[1] การสำรวจนี้จัดทำขึ้นในสิงหาคมถึงธันวาคม 2565 โดยทำการสำรวจชาวมุสลิม Gen Z จำนวน 550 คน โดย 60% มาจากศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน และอีก 40% มาจากอัลเบเนีย แองโกลา แองกีลา อาร์เมเนีย ออสเตรเลีย ออสเตรีย มาเรนห์ บังกลาเทศ บัลแกเรีย แคนาดา เดนมาร์ก อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี เคนยา โมริเชียส เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ ปากีสถาน ปาเลสไตน์ โปรตุเกส ซาอุดิอาระเบีย สโลวาเกีย แอฟริกาใต้ ศรีลังกา ตุรเกีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
[2] เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2555