เมื่อเกิดความหลงใหล เราก็เหมือนหลุดเข้าไปในดินแดนที่ไร้กาลเวลา
เรียกง่าย ๆ ว่า “เพลิน” กับบรรยากาศที่ได้พบเจอ จนหลงลืมไปว่าไม่ได้มาคนเดียว เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ที่หลงรักกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ แม้จะจดจำรายละเอียดหรือเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ได้ก็ตาม
มนต์ขลังที่ว่ามานี้มีอยู่ในโบราณสถานหรือเมืองเก่าในหลายจังหวัด อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมรดกโลก
แต่หลายพื้นที่ของไทย ก็เต็มไปด้วยเรื่องทางวัฒนธรรม เช่นการเดินทางวันนี้ที่ “วัดมหาธาตุ” จังหวัดชัยนาท โบราณสถานที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา
“วัดมหาธาตุ” ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรค์บุรี วัดเก่าแก่โบราณคู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ เดิมมีชื่อว่า “วัดพระธาตุ” หรือ “วัดหัวเมือง”
วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำน้อยและปากคลองศรีบัวทองเดิม ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปยังเมืองโบราณดงคอน ในสมัยสุโขทัยใกล้เข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา ได้มีการสร้างเจดีย์ประธานและอุโบสถทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นแบบแผนตามคติในสมัยนั้น
ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นท้องพระโรงของผู้ครองเมืองสรรคบุรี ดังที่ในปัจจุบันมีการเรียกบริเวณวัดว่าหน้าพระลาน และมีการขยายวิหารหลวงและระเบียงคดไปทางทิศเหนือสมัยที่เจ้ายี่พระยามาครองเมืองสรรคบุรี หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณะวัดมหาธาตุแห่งนี้เรื่อยมา
จนมาถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองสรรคบุรีจึงได้ร้างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2444 หรือรัตนโกสินทรศก 120 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมายังวัดแห่งนี้และได้มีความในจดหมายเหตุดังนี้
“วัดมหาธาตุในตำบลบ้านเรียกว่าบ้านพระลานอันเป็นที่ตั้งวังเจ้าผู้ครองเมืองอยู่ในกลางย่านระหว่างคูเมืองทั้งสองด้าน วัดมหาธาตุนั้นตามฝีมือทำเป็น 2 คราวฤา 3 คราว ชั้นเดิมทีเดียวเปนอย่างเมืองละโว้ ชั้นที่ 2 เปนอย่างลพบุรี เป็นการที่ทำเพิ่มซ้ำ ๆ กันลงไป เช่นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ พระระเบียงเดิมเป็นพระศิลานั้ง เว้นห้องหนึ่งมีห้องหนึ่ง ครั้นภายหลังทำแทรกลงในห้องว่างทุก ๆ ห้อง เปนพระก่ออิฐ แลขยายระเบียงคดต่ออกไปเอามุมเปนกลาง อย่างเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”
โบราณสถานที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ “วิหารวัดมหาธาตุ” สภาพทั่วไปชำรุด ไม่มีหลังคา แต่ยังคงปรากฏด้านหน้าเป็นรูปแปดเหลี่ยมแบบเสาวิหารในสมัยอยุธยา มีบัวหัวเสาเป็นบัวกมล มีทางขึ้นด้านหน้าทางเดียว ด้านหลังพระวิหารมีทางเดินเชื่อมกับระเบียงคดออกไปสู่ลานพระธาตุได้
ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธาน 1 องค์ เป็นลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อายุ 700 ปี และ “พระปรางค์กลีบมะเฟือง” (พูมะเฟือง) สร้างด้วยอิฐถือปูน 3 องค์ องค์พระปรางค์มีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม (ฐานเขียง) เป็นศิลปะสมัยลพบุรี กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 เมื่อ พ.ศ. 2444
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ศิลปะแบบลพบุรีและแบบอยุธยาตอนต้น และยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของโบราณต่าง ๆ มากมายไว้อีกด้วย
ชื่อ “วัดมหาธาตุ” ปรากฏอยู่ในหลายแห่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นชื่อเรียกของวัดที่ที่มีพระสถูปเจดีย์หรือพระปรางค์ที่บรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งในแต่ละแห่งมีเรื่องราวความเป็นมาที่แตกต่างกันไป แต่ทุกสถานที่มีความงดงามทรงมนต์ขลัง เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นที่ความเคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
วัดมหาธาตุ ชัยนาท มีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ภายในเต็มไปด้วยรายละเอียดของศิลปกรรมโบราณ แสงสีในแต่ละช่วงของวัน สร้างบรรยากาศที่แตกต่างในการเข้าชม แม้กระทั่งยามแดดจ้าในช่วงกลางวัน เราก็พากันเพลินจนแสงแดดเกินต้าน
ข้อมูล: wikipedia.org, https://thailandtourismdirectory.go.th/