ถอดบทเรียน “ซิลิโคนเถื่อน” แพทย์แนะ ปลอมต้องเปลี่ยน!

42
ตัวอย่างซิลิโคนเสริมหน้าอก ก้น สะโพก จะตรวจสอบได้ง่ายกว่า จากกล่องของผลิตภัณฑ์ นั้น ๆ

ถือเป็นข่าวครึกโครมและสะเทือนวงการศัลยกรรมความงามอยู่ไม่น้อย  จากกรณีที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จับมือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุกทลายโรงสีร้างใน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ลักลอบผลิตซิลิโคนเถื่อน ส่งคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ

เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่เข้ารับการทำศัลยกรรมกับคลินิกที่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมาเป็นจำนวนมาก  และตั้งคำถามว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่าซิลิโคนที่ตัวเองเสริมเข้าไปเป็นซิลิโคนเถื่อนหรือปลอม  ในเรื่องนี้ นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด ได้ออกมาแสดงความห่วงใย และแนะนำวิธีตรวจสอบ ซิลิโคนเสริมจมูกหรือเสริมคางในเพจ  Dr. Thananchai

9 กุมภาพันธ์ 2022 , นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด , ช่างภาพ : สลัก แก้วเชื้อ THE STANDARD

และเมื่อทราบแล้วว่าซิลิโคนที่เสริมเข้าไปเป็นของปลอม  นพ. ธนัญชัย ได้พูดถึงกรณีนี้ว่าไม่แนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการ เพราะเราไม่ทราบได้เลยว่า สารที่ใส่เข้าไปในร่างกาย จะมีผลเสียกับร่างกายในระยะยาวหรือไม่  และสิ่งที่นพ. ธนัญชัยให้ความสำคัญกว่านั้นคือวัสดุนั้นจะก่อให้เกิดมะเร็งในอนาคตได้หรือไม่ เพราะในเมื่อวัสดุนั้น ไม่มีการวิจัยใดๆ  ผลิตจากโรงงานเถื่อน ไม่ผ่าน อย.  เราจึงไม่ควรเสี่ยง ใช้การเฝ้าสังเกตอาการ

ดังนั้นสำหรับคำแนะนำของนพ.ธนัญชัยจึงแนะนำให้ ”เปลี่ยน” ผ่าตัดเอาออกและใส่ซิลิโคนใหม่ ที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ ผ่าน อย. เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยกับตัวท่านเองในระยะยาว

ซิลิโคนแผ่นใหญ่ก่อนนำมาเหลาและตกแต่ง

โดยเมื่อไม่กี่ปีมานี้  FDA ได้มีการขอเรียกคืนถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในหลายรุ่น สาเหตุเพราะตรวจพบในภายหลังว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด ALCL (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับถุงซิลิโคนหน้าอก) ในระดับที่มากกว่าซิลิโคนอื่น ๆ ซึ่งในกรณีนั้น ถุงซิลิโคนผ่านการรับรองของ FDA ตั้งแต่แรกแต่มาตรวจพบจากการวิจัยในช่วงหลัง  คำแนะนำของ FDA ทั่วโลก จึงทำได้ชัดเจน เพราะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง  รุ่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ใช้การสังเกตอาการไปได้

ส่วนคนที่มีปัญหา ใช้ซิลิโคนรุ่นที่เสี่ยง ก็ทยอยมาเปลี่ยนตามความเหมาะสม อันนี้เป็นตัวอย่างวัสดุที่ผ่าน อย. แล้ว  นอกจากจะมีความปลอดภัย ณ วันที่ตรวจสอบผ่านแล้ว  ในระยะยาว ยังมีการวิจัยต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในภายหลัง  เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคด้วย

ซิลิโคนแบบมาเป็นแผ่นใหญ่ๆมีชื่อการค้า และ เลข LOT serail number

เมื่อกลับมาเปรียบเทียบกับข่าวในปัจจุบัน เป็นการจับโรงงานเถื่อนในการผลิตซิลิโคนเสริมจมูก คาง  กรณีนี้เป็นโรงงานเถื่อน และวัสดุไม่ผ่าน อย. ยิ่งตอกย้ำว่าเราจึงไม่ควรเสี่ยง จะใช้วิธีสังเกตอาการเลยเพราะขนาดของที่ผ่าน อย. ถูกต้องแล้ว  ในอนาคตยังมีโอกาสเกิดโรคใหม่ที่ไม่คาดคิดได้ ดังเช่น ALCL  แล้วถ้าของที่ไม่ผ่าน อย. มันจะเสี่ยงมากขนาดไหน

เลข LOT และวันหมดอายุของการ sterile ระบุไว้ ในแต่ละชิ้น

นพ.ธนัญชัย ทิ้งท้ายว่า อยากให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำซิลิโคนที่ปลอมเหล่านี้ ไปตรวจพิสูจน์โดยละเอียด ว่าเป็นสารประเภทใด มีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่  มากน้อยเพียงใด  และมีคำแนะนำอย่างเป็นทางการสำหรับผู้ที่เสริมไปแล้วว่า ควรเปลี่ยน หรือ ให้เฝ้าสังเกตอาการ เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก    แต่หากยังไม่มีคำชี้แจงใด ๆ ที่ชัดเจน ตามหลักการแพทย์ ถือเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญของที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่รู้ผลลัพธ์ในระยะยาว ไม่ควรเสี่ยงที่จะให้อยู่ในร่างกายของเรา

ศูนย์ศัลยกรรมความงามโรงพยาบาลบางมด ปรึกษาศัลยกรรมความงาม   โทร. 0-2867-0606 ต่อ 1200-1204