ต้นตะบันต้องรอด ชวนเที่ยวเกาะขายหัวเราะอย่างมีจิตสำนึก

182

ต้นไม้ใหญ่อันแสนโดดเดี่ยว บนเกาะขนาดเล็กกลางทะเลตราด เรียกกันว่า “เกาะขายหัวเราะ” ที่อ้างอิงจากมุกตลกจากภาพเกาะร้างในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีเพียงมะพร้าว 1 ต้น มีพื้นที่พอให้นั่งได้เพียง 1-2 คนเท่านั้น

มุกตลกในบรรยากาศต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปตามจินตนาการของผู้เขียน แต่ตัวเกาะก็ยังคงเอกลักษณ์ของต้นมะพร้าว 1 ต้นอยู่บนเกาะนั้นเสมอ

1-2 ปีมานี้ ชื่อ “เกาะขายหัวเราะ” ถูกปลุกขึ้นมาจนได้รับความนิยมเป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง เกาะขายหัวเราะ จ.ตราด อยู่ใกล้กับเกาะนกในและเกาะนกนอก  ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่สามารถเดินเชื่อมต่อไปยังเกาะขายหัวเราะได้ในยามน้ำลง สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะหมากสามารถนั่งเรือจากแหลมสนไปยังเกาะขายหัวเราะภายในเวลา 30-40 นาทีโดยประมาณ

ที่เกาะขายหัวเราะ แห่งนี้จะมีลักษณะพิเศษตามเวลาและฤดูกาล หากน้ำลงในปริมาณที่พอเหมาะก็จะมองเห็นเกาะขนาดเล็กที่มีโขดหินรายล้อม หากน้ำขึ้นมากก็จะปรากฏเพียงรากไม้ และกลุ่มหินเพียงเล็กน้อย ขณะที่เวลาน้ำลงมาก ๆ ก็จะปรากฎเป็นลานหินขนาดกว้างขึ้น

ศูนย์ป่าไม้ตราด  ระบุว่า “เกาะขายหัวเราะ” เป็นเกาะที่ยื่นออกมาในทะเลและมีต้นไม้อยู่ 1 ต้น คือ ต้นตะบัน เป็นไม้พิเศษที่พบได้น้อยพื้นที่จังหวัดตราด โดยเฉพาะทะเลภาคตะวันออก

ซึ่งจริง ๆ แล้ว ต้นตะบัน เป็นพืชที่ขึ้นตามแนวชายฝั่ง และไม่ขึ้นในทะเล ตามปกติแล้วจะขึ้นบริเวณป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลนและป่าชายหาด แต่ด้วยความโดดเด่นที่ต้นตะบัน ต้นนี้ไปขึ้นบนเกาะ ที่เป็นโขกหิน ทำให้ลักษณะต้น แคระแกร็น หงิก ๆงอ ๆ จนเกิดความสวยงามอีกแบบ

หลายคนคงนึกภาพออกว่า เมื่อใครก็ตามที่เดินทางไปยังเกาะขายหัวเราะแล้วพบกับต้นตะบันนี้เข้า อาจจะสำลักความสุขจนเลยเถิด อดไม่ได้ที่จะปีนป่าย รวมทั้งการเหยียบย่ำบนรากที่แผ่สาขา จนอาจจะทำให้ต้นไม้ชอกช้ำไปเรื่อย ๆ

และกลายเป็นที่มาของความกังวลว่า ต้นตะบันต้นนี้ จะอยู่รอดไปอีกนานแค่ไหน หากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเหยียบย่ำปีนป่ายกันมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีป้ายเตือนอยู่

แต่เท่าที่สังเกตป้ายเตือนอาจจะอยู่ในมุมที่ผ่านสายตาของนักท่องเที่ยวไปง่าย ๆ และบางครั้งความไม่รู้หรือเห็นว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง จึงมองข้ามความจริงที่เปราะบางไป ดังนั้น หากใครมีโอกาสได้เยือนหรือกล่าวถึงเกาะขายหัวเราะ อยากให้ชวนกันร่วมปกป้องต้นตะบันนี้ไว้และหมายรวมถึงต้นไม้อื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย

ย้ำอีกครั้งว่าไม่เฉพาะการปีนป่าย เด็ด ดึง กิ่ง ก้าน ใบ แต่หมายถึงการเหยียบย่ำรากไม้ด้วย

ล่าสุด ศูนย์ป่าไม้ตราด เตรียมส่งเจ้าหน้าที่รุกขกร ดูแลต้นตะบันบนเกาะขายหัวเราะ พร้อมขอความร่วมมือผู้ไปเยือนมีจิตสำนึกท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ปฏิยุทธ์ บูรพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ตราด เปิดเผยว่า ต้นตะบันดังกล่าวมีลักษณะพิเศษจนกลายเป็นจุดเด่นทางการท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดตราด จากตรวจสอบสภาพของต้นตะบันครั้งล่าสุดพบว่า ต้นตะบันบนเกาะขายหัวเราะ บางส่วนมีความทรุดโทรมจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวบางส่วนเหยียบกิ่ง เหยียบราก ของต้นตะบัน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไม้ต้นดังกล่าวทรุดโทรม

ทั้งนี้การดูแลรักษาต้นตะบันนั้น ไม่สามารถดูแลรักษาแบบปกติได้ แต่จะให้เจ้าหน้าที่รุกขกรติดตามตรวจสอบทั้งโรค ทั้งแมลง รวมไปถึงให้ปุ๋ยทางใบช่วยฟื้นฟู เป็นบางครั้ง

เกาะใกล้ ๆ เกาะขายหัวเราะ มองไกล ๆ มีรูปร่างคล้ายไดโนเสาร์

สำหรับ กรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าต้นตะบันตะหักโค่นในอนาคตนั้น  ตอนนี้เท่าที่ดูจากสภาพแล้ว ยังไม่ถึงขนาดที่ต้นตะบันจะหักโค่น จึงขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเกาะขายหัวเราะ ที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์และรักษาต้นตะบันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษของจังหวัดตราด ให้อยู่คู่กับชาวตราดตลอดไป

ส่วนการออกกฎบังคับ ออกข้อห้ามอย่างเป็นทางการนั้น คงยังไปไม่ถึงขั้นนั้น  เพราะทุกอย่างอยู่ที่จิตสำนึก ให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

นอกจากการอนุรักษ์ทรัพยากรแล้ว การมีส่วนร่วมกับการท่องอย่างยั่งยืนยังมีอีกหลายรูปแบบ เช่น การไม่ทิ้งขยะหรือเห็นขยะก็ช่วยกันเก็บ การลดการใช้พลาสติก การลดคาร์บอน การใช้วัสดุธรรมชาติ ฯลฯ

อยากให้เกาะขายหัวเราะ อยู่คู่ความสุขของทุกคนไปนาน ๆ ดังนั้นต้องช่วยกัน สนุกสนานแต่พอเหมาะ จิตสำนึกที่ดีเหล่านี้จะช่วยให้การเดินทางของเรามีคุณค่าขึ้นอีกมหาศาล