“เวชศาสตร์วิถีชีวิต” หนุนคนไทยเข้าสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ ห่างไกลโรค NCDs

133
ภาพโดย Denise Husted จาก Pixabay

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เตรียมนำความรู้ด้าน “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” มาประยุกต์เข้ากับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยทุกกลุ่มวัย เพื่อเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวันอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases : NCDs) เช่นโรคหลอดเลือดหัว ใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน สุขภาพจิต เป็นต้น

ซึ่งปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญของ การเสียชีวิตของคนไทย สูงถึง 3 ใน 4 หรือ ร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยสาเหตุการก่อโรคไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การนอนหลับ เป็นต้น

นอกจากนั้น สสส. ยังต้องการแก้ไขปัญหานี้เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ให้ไว้กับสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)โดยลดการเสียชีวิตก่อนวันควรจากโรคไม่ติดต่อ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทั้งหมดภายในปี 2573 โดยต้องอาศัยทั้งการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ การออกนโยบายของภาครัฐ การร่วมรณรงค์ผลักดันสังคมคู่ขนานกับการรักษาโรคเป็นรายบุคคล

เวชศาสตร์วิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค

“เวชศาสตร์วิถีชีวิต” หรือ Lifestyle Medicine” เป็นคำใหม่ในสังคมไทย โดย American College
of Lifestyle Medicine ให้นิยามว่า “แนวทางในการใช้ชีวิตเพื่อการรักษาและจัดการกับโรคโดยไม่ใช้ยา”
เป็นแนวทางใหม่ใน “การดูแลสุขภาพที่เน้นการปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อ” โดยการอาศัยหลักการผสมผสานและบูรณาการศาสตร์การรักษาต่าง ๆ

ทั้งความรู้ทางการแพทย์ การให้บริการทางสุขภาพ นโยบายสุขภาพ และปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ นำมาวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งด้านอาหาร การมีกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายป้องกันโรค การนอนหลับที่มีคุณภาพ การจัดการความเครียด การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอันตรายต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการรักษารูปแบบอื่น ๆ โดยไม่ใช้ยา

แพทยสภารับรองเวชศาสตร์วิถีชีวิต

เวชศาสตร์วิถีชีวิต ถูกใช้ดูแลสุขภาพประชาชนในฝั่งอเมริกาและยุโรปมานานแล้ว แต่อาจถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย นั้นเพราะยังขาดบุคคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่นับเป็นความโชคดีของคนไทย เพราะล่าสุดแพทยสภาได้รับรองหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแขนงเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้เป็นหนึ่งแขนงของสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน

โดยมีกรรมการพัฒนาหลักสูตรที่มาจากแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งความรู้และประสบการณ์ โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เป็นหนึ่งในแพทย์กลุ่มนี้ด้วย และพร้อมที่จะสานต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สสส. รองรับความต้องการดูแลสุขภาพของคนไทย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

เจาะลึกพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนป้องกันโรค NCDs

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า เวชศาสตร์วิถีชีวิต คือ ศาสตร์ทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางเพิ่มเติมจากการดูแลสุขภาพพื้นฐาน ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์มากในการดูแลสุขภาพของคนไทย เพราะศึกษาเจาะลึกไปยังพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น นำไปสู่การวิเคราะห์หาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อ อย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีความสุขเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฎิบัติ

เป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อเทียบกับกรณีการเกิดโรคแล้วต้องรักษาด้วยการใช้ยา ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของสสส. และเป็นภารกิจของตนเองอยู่แล้ว

ดังนั้นจะนำความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานทุกๆ ด้าน พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมและแพลตฟอร์มต่างๆ ของสสส. มาทำหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสาร การให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดของการดูแลวิถีชีวิตสุขภาพคนไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย

“เราสูญเสียประชากรก่อนวัยอันควรด้วยโรค NCDs ต่อปีจำนวนมาก ดังนั้นความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตก็จะเข้ามามีบทบาทใหม่ที่สำคัญต่อการดำเนินงานของสสส.ในทุกๆ ด้าน เพื่อนำคนไทยทุกกลุ่มไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ เป็นการช่วยระบบสาธารณสุข และสามารถประหยัดเงินในการรักษาโรคได้อย่างมหาศาล ประเทศก็ได้ประโยชน์

เพราะการรักษาโรค NCDs ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งหากประชาชนสนใจที่จะเริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ก็สามารถค้นหาข้อมูลการดูแลสุขภาพด้วยแนวคิดวิถีชีวิตสุขภาวะได้ที่ www.thaihealth.or.th ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ประชุมกิจกรรมทางกาย ต่อยอดภาระกิจดูแลสุขภาพ

ล่าสุด สสส.ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) เตรียมจัดการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย “ Thailand Physical Activity Conference 2022 (TPAC 2022) ” ภายใต้หัวข้อ “ Integrating knowledge for physical activity regeneration : บูรณาการองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางกาย ”

เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานด้านส่งเสริมกิจกรรมทางกายจากนักวิชาการและผู้เชียวชาญทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 1 ก.พ. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ https://tpacconference.org/ หรือรับชมการถ่ายสอดสดผ่าน

Facebook ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย TPAK ได้ที่

https://web.facebook.com/TPAK.Thailand/?_rdc=1&_rdr

ทั้งนี้ สสส.จะนำความรู้จากเวทีนี้มาแปลงเป็นนโยบายสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนสุขภาพและสังคมไทยเพื่อก้าวสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตสุขภาวะ” อย่างยั่งยืนต่อไป