เมื่อเกิดอาการปวดท้อง เราอาจคิดถึงอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลัก ๆ ไม่กี่แบบ เช่น โรคกระเพาะอาหาร อาหารเป็นพิษ หรือท้องอืดท้องเฟ้อ แต่แพทย์เตือนให้เราสังเกตลักษณะอาการปวดท้องให้ดี เพราะอาการเจ็บป่วยทั่วไปนี้ อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนภาวะโรคร้ายแรงอื่น ๆ ไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว
อาการปวดท้อง ไม่ใช่โรคกระเพาะเสมอไป
โรคกระเพาะอาหาร เป็นคำเรียกรวมกว้าง ๆ ของอาการปวดท้องที่คาดว่าน่าจะมีความผิดปกติที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีแผล อาการปวดด้วยโรคกระเพาะมักจะปวดใต้ลิ้นปี่ เป็นอาการปวดจุก เสียด แน่น หรือแสบท้อง อึดอัดท้องหลังมื้ออาหาร หรืออิ่มเร็วกว่าปกติ โดยบางรายอาจมีอาการของกรดไหลย้อนร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางหน้าอก เรอเปรี้ยว
พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “เรื่องหนึ่งที่หมออยากแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารก็คือการกินข้าวไม่ตรงเวลาไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดโรคกระเพาะ โดยทั่วไป อาการกระเพาะอาหารอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารมี 2 สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่ชื่อว่า Helicobacter pylori และการกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดเป็นแผลได้
สาเหตุที่เหลืออาจเป็นอย่างอื่น เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ถ้าสงสัยว่าอาการปวดท้องเป็นจากโรคกระเพาะ สามารถทานยาลดกรดเพื่อรักษาเบื้องต้นก่อนได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป”
ดังที่กล่าวไปว่าหากรักษาเบื้องต้นไม่หาย เราควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่แท้จริง เช่น หากปวดจุกลิ้นปี่สงสัยโรคกระเพาะก็พิจารณาส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หากปวดท้องหนักมาก ปวดเกร็งทั้งท้อง นอนไม่ได้เลย อาจเป็นอาการจากกระเพาะอาหารทะลุ ซึ่งการเอกซเรย์ธรรมดาก็สามารถเห็นได้และสามารถผ่าตัดได้เลย
นอกจากนี้ยังมีการอัลตราซาวด์ช่องท้องซึ่งใช้ตรวจความผิดปกติของตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือนิ่วในท่อน้ำดี นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือ การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ตามดุลยพินิจของแพทย์
อาการปวดท้องของเราเป็นแบบไหน?
“ในทางการแพทย์ เราแบ่งลักษณะการปวดท้องออกเป็น 3 แบบ” พญ.สาวินี จิริยะสิน อธิบาย “แบบที่ 1 คือปวดจากอวัยวะภายใน ซึ่งจะเป็นการปวดแบบปวดลึก ปวดบิด ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ส่วนแบบที่ 2 คือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะนั้น ๆ สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน และแบบที่ 3 คือการปวดร้าว ซึ่งเป็นการปวดที่ร้าวหรือแผ่ไปยังบริเวณอื่น ๆ ตามการลำเลียงของเส้นประสาท เช่น ปวดท้องใต้ลิ้นปี่แล้วปวดร้าวไปที่บริเวณหลัง คิดถึงโรคตับอ่อนอักเสบ หรือ ปวดท้องแล้วร้าวลงขาหนีบ คิดถึงนิ่วในท่อไต เป็นต้น”
ลักษณะอาการปวดท้องที่คนไข้สามารถสังเกตตัวเองได้คือแบบที่ 2 หรือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งช่องท้องของคนไข้เป็น 9 โซน ได้แก่
โซน 1: ช่องท้องด้านขวาบนจะเป็นอวัยวะเช่น ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคฝีหนองในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ
โซน 2: กลางลำตัวบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งเป็นบริเวณของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน อาการปวดอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือภาวะตับอ่อนอักเสบ
โซน 3: ช่องท้องด้านซ้ายบน เช่น ม้าม (อาจเกิดจากการขาดเลือดของม้าม ซึ่งเจอได้น้อยในเวชปฏิบัติ)
โซน 4, 6: บริเวณเอว หมายถึง ด้านข้างสะดือซ้ายและขวา อวัยวะได้แก่ ไต ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากกรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไต ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไปจนถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่
โซน 5: ตรงกลางท้องรอบสะดือ อวัยวะคือลำไส้เล็ก ที่อาจเกิดจากลำไส้เล็กอักเสบหรือไส้ติ่งอักเสบในระยะเริ่มต้น
โซน 7, 9: ท้องน้อยด้านซ้ายและขวา ซึ่งนอกจากไส้ติ่งที่ช่วงแรกจะมีอาการปวดรอบสะดือ หลังจากนั้น 6-8 ชั่วโมง จะมีการย้ายตำแหน่งมาปวดบริเวณขวาล่างเมื่อการอักเสบลุกลามมากขึ้น อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ปีกมดลูก รังไข่ และลำไส้ใหญ่ทั้งสองด้าน โดยอาจเกิด ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กระเปาะของลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ซึ่งมักพบด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา
โซน 8: บริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าว จะเป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ซึ่งอาจเกิดจาก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งต้องซักประวัติตกขาว ประจำเดือนเพิ่มเติม และแนะนำปรึกษา สูตินรีแพทย์
โพรไบโอติกส์ ช่วยสร้างสมดุลระบบทางเดินอาหารได้จริงหรือ?
ลำไส้ใหญ่ของเราเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ราวห้าร้อยชนิดซึ่งมีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี การศึกษาทางการแพทย์พบว่าจุลินทรีย์ชนิดดีที่มีความสำคัญต่อสุขภาพหลัก ๆ มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) กับ ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) โดยพบว่าในลำไส้ของคนที่ป่วยมักมีจุลินทรีย์สองชนิดนี้น้อยกว่าคนปกติ
ฉะนั้น หากเราเติมจุลินทรีย์ที่ดีในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์เข้าสู่ร่างกายก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ และมีงานวิจัยสนับสนุนด้วยว่าโพรไบโอติกส์สามารถช่วยรักษาอาการท้องเสียหรือลำไส้แปรปรวน ตลอดจนช่วยปรับสมดุลลำไส้ได้
อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์
“หากเรามีอาการปวดท้องรุนแรงมากและต่อเนื่องเกิน 6 ชม. ร่วมกับมีไข้ อาเจียนอย่างมาก มีเลือดออกทางเดินอาหาร ปวดร้าวทะลุหลัง ปวดเกร็งทั้งท้อง ฯลฯ อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคที่ต้องมีการผ่าตัดเร่งด่วน หรือได้รับการรักษาทันที เช่น กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น หรือ อาการปวดท้องน้อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการแท้งบุตร หรือท้องนอกมดลูกก็ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเช่นกัน” พญ.สาวินี จิริยะสิน กล่าวสรุป
ผู้สนใจรับการตรวจรักษาโรคหรือปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน หรือโทรศัพท์นัดหมายหมายเลข 02-079-0054