เปิดตัวเกมออนไลน์สยบเฟคนิวส์ ช่วยผู้สูงอายุไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

62

พบผู้สูงอายุถูกหลอกซื้อของไม่มีคุณภาพ – ล้วงข้อมูลส่วนบุคคล พุ่ง! ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ม.มหิดล ภาคีเครือข่าย สสส. พัฒนานวัตกรรมเกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” STAAS เวอร์ชั่น 2 ช่วยสังคมสูงวัยรับมือ Fake news ป้องกันมิจฉาชีพ

ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ผู้สูงอายุ (จะ) อยู่อย่างไรในยุคเฟคนิวส์” เผยผลสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะของผู้สูงอายุไทยปี 2565 เปิดตัวนวัตกรรม เกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” STAAS (สต๊าซ) ชุดที่ 2

รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ

รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุไทยปี 2565 ปี 2 เก็บข้อมูลผู้สูงอายุ 2,000 คน แบ่งเป็น ชาย 945 คน (47.3%) และหญิง 1,055 คน (52.70%) จาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ มีข้อค้นพบด้านสถานการณ์การใช้สื่อน่าสนใจ 2 ประเด็น 1.ผู้สูงอายุ 50.80% เปิดรับสื่อมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง และ 31.50% ใช้สื่อวันละ 3 – 4 ชั่วโมง ติดตามสื่อประเภทบุคคลมากที่สุด รองลงมาคือสื่อโทรทัศน์ และสุดท้ายคือสื่อออนไลน์

และพบว่าตั้งแต่ปี 2564 ผู้สูงอายุเปลี่ยนพฤติกรรมมารับสื่อบุคคลแทนสื่อโทรทัศน์ 2.ประเด็นที่ผู้สูงอายุไทยสนใจรับสื่อมากที่สุด ได้แก่ ข่าว บันเทิง สุขภาพ ธรรมะ/ศาสนา การเมือง และอาหาร ปี 2565 พบผู้สูงอายุเปิดรับสื่อทุกประเภทลดลง เหลือวันละ 3 – 4 ชั่วโมง/วัน ขณะที่ปี 2564 ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง/วัน

โดยพบการเปลี่ยนแปลงด้านปัญญามากที่สุด ช่วยผู้สูงอายุเข้าใจและใช้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น รองลงมาคือด้านจิตใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องความเสียสละเพื่อผู้อื่น มีความภาคภูมิใจในตนเอง ด้านสังคม ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น ผ่านการร่วมกิจกรรมพัฒนาตนเอง

ด้านร่างกายทำให้เกิดการมีกิจกรรมทางกายตามวัย ใส่ใจดูแลเหงือกและฟัน แต่ผลสำรวจกลับพบว่าด้านเศรษฐกิจ สื่อไม่มีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องรายได้ การออม การวางแผนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

รศ.ดร.นันทิยา กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมเกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” STAAS (สต๊าซ) ชุดที่ 2 มีเป้าหมายช่วยทำให้สังคมสูงวัยรับมือกับข่าวปลอม หรือการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้สูงอายุ เกมชุดที่ 2 ได้เพิ่มสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี 6 เรื่อง

ได้แก่ ไปทำงานเมืองนอก เลี้ยงเป็ดเอ็นเอฟที ตำรวจตรวจบ้าน งานบุญ คาสิโนออนไลน์ และจิตอาสา นำเสนอผ่านชีวิต “น้าแมว” สาวใหญ่วัยเพิ่งเกษียณ เมื่อรวมกับเรื่องราวของครูชุบจากเกมชุดที่ 1 ทำให้ผู้เล่นมีสถานการณ์จำลองให้ฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อหลากหลายถึง 10 สถานการณ์ สามารถดาวน์โหลดได้ทางสมาร์ตโฟน ทั้ง android และ iOS ด้วยการพิมพ์คำว่า STAAS จาก Apple store หรือ Google play

“แม้ว่าการเปิดรับสื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านบวก แต่สัดส่วนผู้สูงอายุที่ตระหนักว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น ชวนทุกคนมาเล่นเกมออนไลน์ “หยุด คิด ถาม ทำ” STAAS (สต๊าซ) ชุดที่ 2 ปี 2565 มีผู้สูงอายุรู้ว่าตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงผ่านสื่อ 22% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 16% ส่วนผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเปิดรับสื่อจะรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยรับสื่อ

สำหรับเรื่องที่ถูกหลอกมากที่สุด คือ ถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพ 46.14% ถูกหลอกให้ทำบุญช่วยเหลือคนช่วยเหลือสัตว์ 43.06% ถูกหลอกให้ซื้อยาและดูแลสุขภาพ 30.23% ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 13.86% มีสัดส่วนสูงกว่าปี 2564 ชัดเจน ที่น่าสังเกตก็คือ จำนวนผู้สูงอายุที่ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 3.75% ในปี 2564” รศ.ดร.นันทิยา กล่าว