กลุ่ม ปตท. หนุน Soft Power  พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยคุณภาพสู่เวทีสากล

31

กลุ่ม ปตท. ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ไทย ดันเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยคุณภาพสู่เวทีสากล จับมือพันธมิตรต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สนับสนุน ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ ผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการผลิตคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก เพื่อพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

เชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแพร่ขยายอิทธิพลทางค่านิยม หรือ วัฒนธรรม ที่นานาประเทศผลักดันให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” จึงจัดตั้งโครงการ Soft Power for Better Thailand ขึ้น

เชิดชัย บุญชูช่วย

เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย หรือ เสน่ห์ไทย ที่เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติอันเป็นภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่อยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อขยายฐานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Industry) ในประเทศไทย ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ปตท. จับมือพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจาก บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ภายใต้แนวคิด TECH CREATE FUN คือ การนำเทคโนโลยี (TECH) เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Drone และ Metaverse เป็นต้น มาเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน (CREATE) เช่น ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์  หรือ งานศิลปะ เพื่อให้ทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้น (FUN)

รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

1.สร้างคอนเทนต์ไทยสู่สากล ผ่านโครงการ Content Lab โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) จัดโปรแกรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ งานโฆษณา งานอีเวนต์ และเกม ให้กับนักเรียน นักศึกษา นักสร้างอนิเมชั่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล  โดยจะมีกิจกรรม Open House โครงการในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

2.สร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ TGIF – Technology is Fun โดยนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัย 11 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศได้ในเชิงพาณิชย์

และ 3. จัดแสดงศักยภาพซอฟท์พาวเวอร์ด้านศิลปะไทย ผ่านนิทรรศการ “Locating the Locals: A Virtual Exhibition by PTT” โดยคัดเลือกผลงานบางส่วนจากการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ที่เคยได้รับรางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 นำออกจัดแสดงอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมบนพื้นที่จัดแสดงศิลปะแบบเสมือนจริง (Virtual Art Gallery) ซึ่งนอกจากการจัดแสดงครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว

นิทรรศการนี้จะมีการจัดแสดงขึ้นอีกในงาน Bangkok Design Week 2023 ณ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 และ Isan Creative Festival 2023 ณ จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1 – 9 เมษายน 2566 ซึ่งผู้สนใจยังสามารถชมนิทรรศการในโลกเสมือนที่ virtualspacebyptt.com ได้อีกด้วย”

ความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ปตท. ทดสอบความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจและการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้ว  ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้ทัดเทียมสากล

ช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ของอาเซียน ที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เพิ่มการจ้างงานใหม่ในสาขาครีเอทีพและดิจิทัลได้ในระยะยาว อันจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป