DPU แนะ 3 กลยุทธ์ธุรกิจโรงแรม รับมือ “เที่ยวล้างแค้น”

21

“พนักงานทัพเสริม สร้างเครือข่ายท้องถิ่น ใช้ภาษาจีนและเทคโนโลยีเพิ่มทักษะ” กลยุทธ์เสริมทัพวิกฤตขาดแรงงานด้านการท่องเที่ยวและบริการ รับมือนักท่องเที่ยวชาวจีนที่กำลังจะหลั่งไหลกว่า 11 ล้านคน หลังจาก “จีน” ไฟเขียวกรุ๊ปทัวร์ ให้มาเที่ยวไทยได้หลัง 6 ก.พ. 2566

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี พังงา และสุราษฎร์ธานี กำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานนับหมื่นคนในการรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของผู้ประกอบเองที่จะต้องกอบกู้รายได้ให้กลับมาหลังพ้นยุคโควิด-19  โดยเชื่อกันว่า รอบนี้นักท่องเที่ยวจีนจะ “เที่ยวล้างแค้น” (Revenge Travel) เกิดมหกรรมเที่ยวทั่วไทยครั้งใหญ่ แบบเที่ยวให้หนำใจ

ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์

“กระแสขอเที่ยวแก้แค้น น่าจะกลับมาแรง รอบนี้นักท่องเที่ยวจีนอาจจะขึ้นไปถึง 200% เลยทีเดียว ไฟลต์มาจากหลายมณฑล เพราะก่อนโควิดเราเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปีมาแล้ว ซึ่งอีกไม่นานหลังจากนี้ ยอดนักท่องเที่ยวทุกชาติที่เข้ามาไทยอาจจะแตะไปถึง 70-80 ล้านคนต่อปีก็เป็นไปได้ ซึ่งตอนนี้เราเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม

โดยที่เราสามารถรับมือและแก้ไขให้ทันโดยการทำ 3 แนวทางหลักๆคือ พนักงานทัพเสริม สร้างเครือข่ายท้องถิ่น ใช้ภาษาจีนและเทคโนโลยีเพิ่มทักษะ” ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU ระบุ 3 แนวทางวิธีการแก้ไขรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากให้พี่น้องผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ฟื้นตัวเอง

พนักงานทัพเสริมทั้งแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง  

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความผันผวนตามฤดูกาล ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่จะมีช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งแต่ละโรงแรม แต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกันไป เราสามารถวางแผนอย่างไดนามิคได้  โลกชีวิตหลังโควิด-19 ในยุค ‘New normal’ นี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริการของประเทศไทยอาจจะต้องปรับรูปแบบของบุคลากรประจำจาก “รายปี” หรือ “รายเดือน” มาเป็นผสมผสานกองทัพเสริม รูปแบบการจ้างงานกึ่งประจำและพนักงานชั่วคราวแบบรายวันหรือรายชั่วโมงเข้ามาเสริมทัพในเวลาที่จำเป็น

“โดยเฉพาะในช่วงขาดแคลนแรงงานที่นักท่องเที่ยวจะมากันเยอะ เช่น ช่วงสงกรานต์ไทย ช่วงวันแรงงานของจีน ช่วงวันชาติจีน เราอาจจะใช้การจ้างพนักงานแบบไม่ประจำ จะเป็นรายวัน หรือรายชั่วโมงแบบที่ต่างประเทศทำ ยืดหยุ่นทั้งวันและเวลา บางครั้งอาจจะเอาจ่ายเรตมากหน่อยแต่ใช้แค่ช่วงพีค  ยิ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนโรงแรมลาออกไปเยอะมาก ไปประกอบอาชีพใหม่ ไปขายของออนไลน์ ไปทำธุรกิจส่วนตัว คนเหล่านี้เขาก็อาจจะกลับมาช่วยได้หากมีการจ้างงานแบบไม่ประจำ หรือ มีการจ้างแบบกำหนดผลัดการทำงานได้

นอกจากนี้อยากให้ผู้ประกอบการมองถึงเรื่องการทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ซึ่งทุกสถาบันการศึกษาตอนนี้อยากทำหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ เรียนและทำงานไปด้วยกัน และในรูปแบบสหกิจศึกษา โดยเฉพาะสถานศึกษาที่มีหลักสูตรด้านการโรงแรม การท่องเที่ยว  ตัวนักศึกษาเองก็ต้องการอยากจะมีรายได้ระหว่างเรียน”

และนอกจากแรงงานตรงสายงานในด้านการโรงแรมและบริการ การแก้วิกฤตแรงงานขาดแคลนนี้ยังต้องอาศัยแรงงานด้านต่างๆ ของผู้คนในท้องถิ่นเข้ามาเสริมทัพอีกด้วยถึงจะก้าวผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะตำแหน่งส่วนใหญ่ที่ขาดแคลนไม่เพียงแผนกตอนรับส่วนหน้าเท่านั้น ยังมีตำแหน่งแม่บ้าน คนทำความสะอาดและผู้ช่วยเชฟ ฟันเฟืองส่วนประกอบที่สำคัญให้การท่องเที่ยวดูดีมีเสน่ห์ตรึงนักท่องเที่ยวให้ติดใจ ได้รับบริการที่มีความเป็นท้องถิ่น และ ดูจริงใจ  

“งานพนักงานแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด เป็นงานที่ขาดแคลนหลักๆ ต้นๆ เป็นงานที่ไม่ต้องใช้คุณวุฒิและประสบการณ์สูง ส่วนงานผู้ช่วยเชฟ ผู้ช่วยในครัว เตรียมของ หยิบจับนั้นนี้ในครัว ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มีทักษะในการทำอาหารกันได้อยู่แล้ว เราต้องเสริมด้วยแรงงานท้องถิ่นนี้เข้าไปด้วย โดยนำคนกลุ่มนี้มาอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น 1 วัน ก็พร้อมทำงาน อีกกลุ่มคือนักศึกษา กศน. กลุ่มนี้อาจจะมีเวลาและต้องการหารายได้

แต่ทีนี้ปัญหาก็คือทั้ง 3 แรงงานกลุ่มนี้เขาไม่รู้ว่ามีงานตำแหน่งแบบนี้ที่ไหน สมัครอย่างไร หรือ ต้องเข้าไปหาผู้ประกอบการอย่างไร” ผศ.ดร.มณฑกานติ ระบุ

เครือข่ายท้องถิ่น “รับทรัพย์ทั้งจังหวัด”

หลังผู้ประกอบการเปลี่ยนแนวคิดให้ยืดหยุ่นขึ้นแล้ว ทีนี้ก็ถึงการจะได้มาของบุคลากรดังกล่าวสามารถทำได้อีกทางโดยการ “จัดงานนัดพบแรงงาน” รวมถึงการสร้างเครือข่ายท้องถิ่นทั้งในส่วนของผู้ประกอบการกับสถานศึกษาหรือกับสมาคมท่องเที่ยวและสมาคมโรงแรมจังหวัดนั้นๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่รวบบรวม รายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ สามารถประสานงานได้ทันทีที่ขาดแคลน

ซึ่งตรงนี้ไม่เพียงได้บุคลากรที่มีประสบการณ์แต่ยังได้กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกด้วย เพราะยุคนี้ 1 อาชีพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้อง 2-3 อาชีพสำรองยามฉุกเฉิน ซึ่งแนวคิดหนึ่งคนมีหลายอาชีพเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมในเมืองท่องเที่ยว

“เราต้องให้ผู้ประกอบการกับแรงงานมาพบกัน คือ ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังว่างงานและอยากมีอาชีพอื่นๆ เสริม แต่ไม่รู้จะเข้าถึงตรงไหน การจ้างงานอย่างที่บอกกึ่งประจำ เขาก็จะไปเคลียร์ตารางตัวเองกับงานให้เหมาะสมและเข้ามาช่วยเสริมเวลาที่ขาดแคลน

วิธีแก้เรื่องนี้อยากให้สำนักงานแรงงานจังหวัดประสานกับสมาคมท่องเที่ยวและสมาคมโรงแรมในจังหวัด รีบจัดงานนัดพบแรงงานอย่างเร่งด่วนให้บ่อยๆ คือ แบบวอล์คอินมาสัมภาษณ์ได้เลย เตรียมเงื่อนไขการจ้างไว้พร้อม วันละเท่าไหร่กี่บาทค่าแรง สวัสดิการต่างๆ ชุดยูนิฟอร์ม อาหาร รถรับส่ง มีอะไรอย่างไรบ้าง ทีนี้ก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงล่วงหน้าอย่างกว้างขวาง”

“เมื่อได้แรงงานเราก็ควรจัดทำฐานข้อมูล (Database) ถึงเวลาต้องติดต่อก็ มีชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลให้พร้อม สามารถเรียกด่วนมาทำงานได้ทันทีที่ต้องการ ซึ่งในช่วงหน้าหนาวไปถึงสงกรานต์  นี้ มันก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ของนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวพร้อมๆ กันจำนวนมากในเมืองไทย และยังช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในท้องถิ่นเพิ่มรายได้กระจายรายได้ ช่วงเร่งด่วนก็ต้องแก้กันไปก่อน

ขณะที่โลว์ซีซั่น เราก็เริ่มทำความร่วมมือที่เป็นระบบ และ ยั่งยืนขึ้น เพราะเราจะมีเวลาที่จะสร้างคน อบรมพนักงานใหม่ สร้างเส้นทางพัฒนาอาชีพการงานให้คนเก่งได้เป็นพนักงานประจำ และจัดอบรมต่ออย่างเป็นเรื่องเป็นราว”

ภาษาจีนยิ่งเยอะ เทคโนโลยียิ่งแยะ ยิ่งดี

“นอกจากเรื่องของคน การอบรม การสร้างเครือข่าย ผู้ประกอบการต้องไปเพิ่มทักษะด้านภาษาจีนในกลุ่มพนักงานโรงแรมให้มากขึ้น เน้นคำศัพท์มาตรฐาน เน้นคำพูดเพื่ออธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องใช้ประจำ หรือนำป้ายดิจิทัล และ เทคโนโลยีแปลภาษามาใช้ในองค์กร เทคโนโลยีจำพวกสื่อดิจิทัลสามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเขาบริการตัวเองได้ เข้าใจสิ่งที่เราเสนอให้  ทำให้ไม่ต้องใช้คนเยอะ  ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการพ้นวิกฤตขาดแคลนแรงงานในช่วงเร่งด่วนนี้ไปได้ ท้ายที่สุด

สิ่งที่อยากจะเสริมคืออยากให้ภาครัฐ รัฐบาล ร่วมให้งบสนับสนุนในการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นกับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะเรื่องการท่องเที่ยวนี้ นำรายได้เข้าประเทศ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งถ้าให้เอกชนจัดทำเอง กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยก็ทำเรื่องการอบรมพัฒนาคนไม่ไหว”

“ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวแบบยั่งยืนก็อยากให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษากับนักศึกษา สร้างระบบร่วมสอน ร่วมพัฒนา จบแล้วกลับไปทำงาน เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่มีวันหมด นับวันโลกเรายิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราต้องช่วยกันพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ทั้งในด้านภาษาและทักษะการทำงาน  จากที่สัมผัสมาโดยตลอดเยาวชนของเรามีความสามารถมาก อยากเรียนด้านโรงแรมการท่องเที่ยว  อยากให้สนับสนุนเยาวชนไทยให้เข้ามาเติมเต็มในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการนี้ก่อน” คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวทิ้งท้าย