‘นอนไม่หลับ’ อันตรายกว่าที่คิด

16
นพ.ธนีย์ ธนียวัน

กรณีพนักงานสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เสียชีวิตที่โต๊ะทำงาน ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งการนอนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับ อันตรายมากกว่าที่คิด นพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด Harvard Medical School สหรัฐอเมริกา มาไขความลับของการนอนเพื่อความสดใส

โครงการตลาดนัดความรู้ ของสภาอาจารย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “ไขความลับของการนอนเพื่อความสดใส” โดยนพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด Harvard Medical School สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “ทำไมคนเราต้องนอน”

ช่วงเวลาที่เราตื่นนอน ไปทำงาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ จะมีการใช้พลังงานจากสมองจำนวนมาก จากสารที่เรียกว่า “อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต” (adenosine triphosphate: ATP) เมื่อ อะดีโนซีน (adenosine) เพิ่มปริมาณขึ้นในร่างกาย และจะทำให้คนเรารู้สึกง่วงนอน รวมไปถึงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการอักเสบทางการร่างกาย เช่น การกินข้าว ออกกำลังกาย รวมถึงความเครียด ปฏิกิริยาเหล่านี้ จะทำให้ร่างกายต้องการการพักผ่อน

“การพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำลายหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ กรณีข่าวการเสียชีวิตของพนักงานสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เป็นตัวอย่าง เมื่อทุกอย่างพังก็จบ” นพ.ธนีย์ระบุ

ไขความลับการนอน
นพ.ธนีย์ กล่าวว่า สำหรับการนอนของมนุษย์ จะมีทั้งหลับลึกและหลับฝัน การหลับทั้งสองแบบ มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยช่วงแรกจะหลับลึก ช่วงท้ายจะเริ่มฝัน เป็นวงจรเกิดขึ้นทั้งคืน การหลับลึกจะทำให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเพียงพอ จิตใจสงบ การหลับฝัน จะช่วยสร้างความทรงจำที่ดี แต่ถ้าไม่ฝัน จะมีปัญหาด้านความจำ ความคิดสร้างสรรค์ และมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต

ส่วนการฝันร้าย นพ.ธนีย์ กล่าวว่า แม้จะทำให้ตื่นมาเพลียกว่าปกติ แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไร การฝันร้ายเกิดจากความทรงจำที่เราไม่ชอบ หรือกินมากกว่าปกติ แต่หากฝันร้ายเรื่องเดิมซ้ำ ๆ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใต้สำนึก ซึ่งต้องปรึกษาจิตแพทย์ให้ช่วยวิเคราะห์สาเหตุได้

“การฝัน เหมือนกับการใช้คอมพิวเตอร์ เวลาใช้คอมไปนาน ๆ มีข้อมูลจำนวนมาก กระจัดกระจาย ต้องทำ Disk Defragment เป็นการจัดเรียงข้อมูล ความฝันเหมือนเป็น Defragment ของเรา ทำให้จำได้ง่ายขึ้น สร้างพลังงานทดแทน ความทรงจำ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านไวรัส ถ้าเราหลับไม่ดี สังเกตว่าจะเป็นภูมิแพ้”

สารสำคัญของการนอนอีกอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ Growth Hormone ที่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการเจริญเติบโต แต่ Growth Hormone เป็นสารที่ช่วยชะลอวัย เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก หากไม่มีการหลั่ง Growth Hormone จะทำให้แก่เร็ว

แล้วทำไมบางคนถึงนอนไม่หลับ? นพ.ธนีย์ บอกว่า ปัจจุบันมีหลายเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้คนนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในยุคนี้มีแสง สี เสียง มีสื่อต่าง ๆ รวมถึงโซเชี่ยล มีเดีย อาทิ เฟซบุ๊ค ไอจี การดู TikTok ก่อนนอน สิ่งเหล่านี้จะทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

อันดับแรก ปัจจัยเรื่องแสง แสงสีขาว จะกระตุ้นให้มองตื่นตัว ดังนั้นในห้องนอนควรใช้ไฟแสงสีเหลือง หรืออย่างสมาร์ทโฟน จะมีไนท์โหมด สำหรับใช้ตอนกลางคืน เป็นต้น หรือห้องนอน ต้องเป็นห้องสำหรับนอนจริง ๆ ไม่ใช่ห้องดูหนัง ฟังเพลง กินข้าว ทำการบ้าน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องนอน จะทำให้เกิดความสับสน ห้องนอนที่ดีต้องเย็นและมืด จะผลดีต่อการหลับอย่างมีคุณภาพ

รวมถึงการอาบน้ำ การอาบน้ำอุ่นก่อนนอน จะช่วยทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ทำให้นอนง่าย คนที่มีปัญหานอนไม่หลับ ควรฝึกการนอน โดยตั้งเวลาในการนอน-ตื่น ให้เป็นประจำทุกวัน

ส่วนบางคนนอนแล้ว แต่ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น หรือถ้าจัดองค์ประกอบทุกอย่างแล้ว แต่นอนแล้วยังง่วงอยู่ คุณหมอแนะนำให้ไปตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เช่น อาการหยุดหายใจขณะหลับ หรือ นอนกรน ต้องสังเกตอาการตัวเองว่าตื่นเช้ามารู้สึกสดชื่นไหม มีอาการปวดหัว หรือรู้สึกวูบหรือเปล่า

“ปัญหานอนหลับ เกิดขึ้นทุกเพศ ทุกวัย เป็นตอนอายุเท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอ้วน หรือมีโรคประจำตัว ถ้าตรวจพบมีปัญหาในการนอน แล้วรักษาทันที จะรู้สึกว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้นอนหลับอย่างเต็มที่” นพ.ธนีย์กล่าว
การนอนเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ทุกคนต้องทำ เพื่อพักผ่อนจากความเหนื่อยล้าจากการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดวัน ดังนั้น หากมีปัญหาในการนอน หรือหลับไม่เพียงพอ อาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด