“Text Neck Syndrome” โรคอุบัติการณ์ใหม่

9

แพทย์เฉพาะทางแนะให้ทุกคนตื่นตัวกับโรค Text Neck Syndrome หรืออาการปวดคอเรื้อรังของคนติดมือถือ ชี้หากเป็นแล้วอันตรายถึงโรคกระดูกคอเสื่อมได้

“สังคมก้มหน้า” ดูเหมือนจะเป็นคำที่นิยามได้ดีกับพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน เรามักจะพบว่าผู้คนแทบจะทุกเพศทุกวัยใช้เวลาในการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เป็นเวลานาน และนั่นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรค Text Neck Syndrome โดยพฤติกรรมการก้มหน้าลง จะทำให้คอ และบ่า ต้องแบกรับน้ำหนัก เพราะน้ำหนักที่เกิดขึ้นจากการกดทับนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลังส่วนคอ ทำให้มีการปูด นูน แตก และเคลื่อนของหมอนรองกระดูกจนไปกดทับเส้นประสาทส่วนคอ ยิ่งเราก้มมากเท่าไหร่ คอและบ่าก็ยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย

อาการของโรค Text Neck Syndrome มีหลายระดับ ตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อย มีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า สะบัก และหัวไหล่ ไปจนถึงอาการที่สามารถสร้างปัญหารุนแรง เช่น อาการชา หรืออ่อนแรงของแขนและมือที่อาจเกิดจากความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกส่วนคอ ซึ่งก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลัง หรือรากประสาทบริเวณคอ

หากย้อนกลับไปในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นายสินิตย์ เลิศไกร รมช. พาณิชย์ เปิดเผยว่าจากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของผู้ใช้งาน ในช่วงอายุระหว่าง 16 – 64 ปี ในประเทศไทยพบว่า มีการใช้งานเฉลี่ย 5.07 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และหากนับรวมการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งระบบ คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 41% ของการใช้เวลา ภายใน 1 วัน ซึ่งพฤติกรรมและตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีท่าทีลดลงในปัจจุบัน

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่า มีข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์พบว่าในทุกๆ 10 องศาที่เราก้มลง จะเพิ่มแรงกดลงที่บริเวณกระดูกสันหลังค่อนข้างเยอะ เช่นการก้มที่ระดับ 30 องศา จะเพิ่มแรงดันเข้าไปเป็น 3 เท่า อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่การนั่งเล่นมือถือเท่านั้น แต่การนอนหรือยืนเล่นโทรศัพท์มือถือก็เสี่ยงที่จะเป็นโรค Text Neck Syndrome ได้เช่นกัน ขณะที่วิธีการป้องกัน Text Neck Syndrome ทุกคนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานมือถือ โดยปรับองศาของคอให้อยู่ในแนวตรงมากที่สุด จำกัดและลดระยะเวลาในการใช้งานมือถืออย่างเหมาะสม ไม่ควรเกินครั้งละ 20 นาที และควรให้มือถืออยู่ในแนวตรงระดับสายตา ไม่ก้มหลัง หรือห่อไหล่ขณะใช้งาน หมั่นยืดกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น จากสถิติของโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ พบว่า ตั้งแต่ปี 2561 –ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษามากขึ้นถึง 4 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน สาเหตุจากการทำงานนานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมไปถึงการก้มเล่นโทรศัพท์มือถือของคนในยุคสังคมก้มหน้า และอีกสาเหตุหนึ่งคือ อายุที่มากขึ้น ข้อต่อต่างๆ ระหว่างกระดูกคอหากรับแรงกระแทกหรือมีการเคลื่อนไหวที่มากและนาน อาจมีการสึกหรอได้

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค

ทั้งนี้การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมมีหลายรูปแบบ แต่เทคนิคที่โรงพยาบาลนำมาใช้และถือว่าเป็นรายแรก คือ การรักษาด้วยเทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) โดยเป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง เพื่อขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะนำกล้องเอ็นโดสโคป ที่มีความละเอียดสูงเข้าไปในช่องว่างภายในกระดูกคอ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาท สำหรับทางเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก เพียง 0.5-1 เซนติเมตร สูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้