ททท. เดินหน้าแผนพัฒนาเส้นทางสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำ พัฒนาองค์กร สังคม เป็นศูนย์กลางในการกระจายข้อมูลการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน เปิดตัวโครงการขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 ด้วยโมเดล “TAT360 องศา” พร้อมสร้างสรรค์ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน สร้าง ททท. ให้ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามเกณฑ์ของ สคร. ก้าวสู่รัฐวิสาหกิจชั้นนำ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้วางแผนการทำโครงการพัฒนาเส้นทางสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และโครงการที่จะพัฒนา ททท. อย่างรอบด้าน โดยจัดกิจกรรมพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร รวมถึงการสร้าง ททท. ให้เป็นศูนย์กลางในการกระจายข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการ ค้นหาข้อมูล หรือสอบถามข้อมูลแบบ 360 องศา และสร้างกิจกรรมเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหาร พนักงานในองค์กร พันธมิตร
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ททท. ได้เปิดตัวโครงการ “ขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 ด้วยโมเดล TAT360 องศา” คือ การรู้รอบตัว ใส่ใจรอบด้าน เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และสอดคล้องกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรสามารถเสนอความคิดเห็นในด้านต่างๆ ค้นหาความคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในระยะเวลา 2 ปีนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อพัฒนาองค์กรให้ไปสู่รางวัลอันทรงเกียรติ
“TAT360 องศา เป็นการสร้างบุคลากรให้มีความ “รู้รอบตัว” หมายถึง การเพิ่มมิติของการรับรู้ข้อมูลทางด้านการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมและเปิดกว้าง สามารถนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลท่องเที่ยวไทย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และการ”ใส่ใจรอบด้าน” หมายถึง การใส่ใจ และให้ความสำคัญกับทรัพยากร ผลกระทบทางสังคม และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว TAT360 องศา จึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานขององค์กรที่จะมีผลต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยแบบครบวงจร” นายยุทธศักดิ์กล่าว
นอกจากนั้น ททท. ยังตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าของวัฒนธรรมทางสังคม การส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมทั้งสร้างความภาคภูมิใจกับฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมที่ต่าง เช่น Amazing Thailand Go Local ด้วยการส่งเสริมการเติบโตของการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดทั่วประเทศไทย มุ่งสร้างอุปสงค์เพื่อให้เกิดการเดินทางเข้าสู่ชุมชนและเมืองรอง พร้อมด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุปทาน และท่องเที่ยวสำหรับทุกคน (Tourism For All) ที่มีการส่งเสริมและการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับกับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกวัย รวมถึงผู้พิการ อีกทั้งยังได้สานต่อการเดินทางตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับนำรายได้เข้าสู่ชุมชนเพื่อเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง มีการส่งเสริมการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลด้วยกิจกรรม TAT Hero การสร้างเครือข่ายกับองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก เปิดโอกาสให้ ททท. ได้รับทราบความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจะนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างสรรค์และจัดทำแผนบริหารจัดการให้การท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อองค์กรภายนอกและสังคมโดยรวม รวมถึงกิจกรรม TAT SPIRIT เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของ ททท. มีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ททท. ได้เข้าสู่ระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Performance Appraisal : SEPA) ซึ่ง สคร. กำหนดให้ทุกรัฐวิสาหกิจต้องบริหารงานโดยมุ่งเน้นในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Good Governance : CG) และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) อีกด้วย และในฐานะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของประเทศ ได้ตระหนักและให้ความความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็น “องค์กรที่ดี” ซึ่งสะท้อนได้จากนโยบายการดำเนินงานของ ททท. (TAT Policy) ที่กำหนดให้องค์กรดำเนินงานด้านการตลาดการท่องเที่ยวยุคใหม่ บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มุ่งรักษาทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการสร้างมูลค่าในภาคส่วนต่างๆ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน