9 วิถีชาวน้ำแห่งอยุธยา ล่องกรุงเก่า เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ก็ยัง “เก๋า” และ “เก๋”

146

คนไทยผูกพันกับสายน้ำมาแต่ครั้งโบราณ จวบจนปัจจุบันก็ยังมีภาพสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำออกมาในหลายมิติ ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน  หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  

ไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย   จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์  พาย้อนรอยประวัติศาสตร์สัมผัสเส้นทางวิถีแห่งสายน้ำ ณ พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 25 – 26 กุมภาพันธ์ 2566

และครั้งนี้ก็เต็มไปเรื่องราวดี ๆ มานำเสนอ

1.วัดพิชัยสงคราม

เมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มต้นปักหลักกันที่ “วัดพิชัยสงคราม” อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.1900 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จุดที่เราจะเริ่มต้นล่องเรือกันวันนี้ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกคนได้เข้าไปกราบหลวงพ่อใหญ่หรือพระพุทธพิชัยนิมิตร พระประธานในพระอุโบสถ จากนั้นก็เตรียมตัวลงเรือ ซึ่งเป็นเรือยนต์ขนาดกลาง ที่มีดาดฟ้าเล็ก ๆ ให้ขึ้นไปชมวิวด้วย

2.ล่องป่าสักไปนครหลวง

ระหว่างเส้นทางการล่องเรือ เราจะได้พบกับวิถีริมน้ำที่สอดประสานวันวานกับปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน บรรดาวัดวาอารามทั้งเก่าใหม่ ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องตามยุคสมัย การล่องเรืออาจจะใช้เวลานานเป็นชั่วโมง จึงมีของว่างเป็นขนมไทยที่มีความสวยงามละเมียดมะไม มาในภาชนะรักษ์โลก สวยสมใจสายกรีน

วัดใหม่ประชุมพล

เราล่องกันไปจนถึงอำเภอนครหลวง ผ่านท่าเรือลากจูงขนาดใหญ่ ก่อนจะขึ้นที่ท่าวัดใหม่ประชุมพล ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แวะชมความงามของภาพเขียนฝาผนังในวิหารโบราณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทรงธรรม เป็นภาพเทพชุมนุมวิทยาธรที่มีความงดงามมาก

3.ละเมียดความรื่นรมย์ ที่บ้านอยุธยารมณ์

เมื่ออยากกินอาหารไทยโบราณที่มีความพิถีพิถันเป็นเลิศ และขอเป็นร้านริมน้ำที่มีบรรยากาศดี ๆ ด้วย มื้อเที่ยงของวันนี้จึงมุ่งไปที่ “บ้านอยุธยารมณ์” อ.พระนครศรีอยุธยา  โดย “สันติ เศวตวิมล” หรือ “แม่ช้อยนางรำ” งดงามตั้งแต่ประตูทางเข้าและส่วนของกลุ่มบ้านไทยโบราณที่แสดงเอกลักษณ์ของชาวกรุงเก่าได้เป็นอย่างดี

อาหารวันนี้เรียงรายมาในแนวไทย ๆ แต่เป็นไทยที่ถึงรสถึงชาติ แต่ละเมนูดึงความโดดเด่นของวัตถุดิบออกมาได้ดีมาก แกงส้มคือแกงส้ม มีความเผ็ด เค็ม เปรี้ยว หวาน แต่กลมกล่อม น้ำพริกลงเรือรสเข้มข้นถึงเครื่อง วุ้นเส้นผัดไข่และดอกขจร ฯลฯ ไม่ว่าจะตักจานไหน ก็ไม่ผิดหวัง

ยามเย็นไปถึงค่ำ เหมาะมากกับการมานั่งชมวิวริมแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามของร้านยังเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการบูรณะ)

4.สักการะพุทธบาท ปราสาทนครหลวง

อีกจุดสำคัญริมแม่น้ำป่าสัก ในเขต อ.นครหลวง ก็คือ “ปราสาทนครหลวง” สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี และเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จไปลพบุรี มีรูปแบบศิลปะไทยผสมผสานกับศิลปะขอม มีความเข้มขลังทรงพลังตั้งแต่แรกเห็น

ตัวปราสาทจะแบ่งเป็นชั้น ๆ ชั้นในด้านบนสุดมีมณฑปอยู่ตรงกลาง ประดิษฐาน “พุทธบาทสี่รอย” เป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหิน  รอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร มาแล้วก็ไม่พลาดที่จะสักการะขอพรกันเพื่อความเป็นสิริมงคล

5.ชมเครื่องทองโบราณ พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา  เป็นอีกจุดที่ควรค่ากับการเข้าชมเป็นอย่างมาก ที่นี่คือสถานที่เก็บรักษา จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ รวมถึงโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งชื่อตามพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะ

ภายในมี “อาคารเครื่องทองอยุธยา” จัดแสดงเครื่องทองโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยามากถึง 2,244 รายการ ที่ขุดพบจากกรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ  (กรุหลวงพระงั่ว) รวมทั้งกรุวัดพระราม (กรุพระราเมศวร) วัดพระศรีสรรเพชญ์  และเจดีย์ศรีสุริโยทัย ล้วนมีความประณีต งดงาม ทรงคุณค่า เหมาะกับการเรียนรู้ความเป็นมาทางศิลปะและประวัติศาสตร์  ถือเป็นการจัดแสดงเครื่องทองโบราณที่งดงามอลังการที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในเมืองไทย

6.ชิลดี ดนตรีเพราะ ณ ป้อมเพชร

ป้อมเพชร เป็นป้อมที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา เป็นอีกจุดชมวิวกลางกรุงเก่าที่มีความร่มรื่นสวยงาม และเพื่อเป็นการเสริมบรรยากาศยามบ่ายให้รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ทริปนี้มีกิจกรรม “ชมวังฟังดนตรีและการบรรเลงเพลงเก่า” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ฟังเพลงเพราะ ๆ ชมวิวริมน้ำยามลมพัดโชย พร้อมของว่างไทย ๆ สไตล์อยุธยา จิบน้ำสมุนไพรชื่นใจ เป็นยามบ่ายที่สุขกายสบายใจอีกวันหนึ่ง

7.ชมประณีตศิลป์ชั้นสูง พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน

มาอยุธยาคราวหน้าห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะนี่คือสถานที่อันน่าอัศจรรย์ทางด้านงานช่างฝีมือและศิลปะไทย ซึ่งเป็นผลงานประณีตศิลป์ชั้นสูง

พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน  อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จัดแสดงนิทรรศการงานฝีมือช่างของสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรดา และผลงานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (การเดินชมภายในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)

ด้านหน้ามีร้านกาแฟ Museum in the Forest และร้านขนมหวานจากวิทยาลัยในวังหญิง รายล้อมด้วยทัศนยภาพอันงดงาม ช่วงนี้ดอกไม้นานาชนิดกำลังบาน เป็นที่น่าชื่นใจ

อีกฝั่งหนึ่งเป็นส่วนของ “อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน” เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลงานสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวเนื่่องกับโขน ตลอดจนจัดเก็บฉากและนำอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่เคยปรากฏโฉมบนเวทีแสดงตอนต่าง ๆ อาทิ หนุมานอมพลับพลาในการแสดงตอน ศึกไมยราพ, เรือสำเภาหลวงในการแสดง ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ รวมถึงประติมากรรมร่างหนุมานขนาด 15 เมตร และประติมากรรมร่างนางผีเสื้อสมุทรขนาดใหญ่ เป็นต้น

8.วิวดี อาหารเด็ด บ้านป้อมเพชร

จะเรียกว่าร้านอาหาร ร้านกุ้งเผา คาเฟ่ หรือที่พัก “บ้านป้อมเพชร” ก็เป็นได้ทุกอย่าง เพราะพรั่งพร้อมด้วยทุกสิ่งที่ว่ามานี้ แถมยังมีทำเลริมแม่น้ำในโซนเมืองเก่า ใกล้กับป้อมเพชร ถูกออกแบบด้วยอิฐสีส้ม มีความโดดเด่นมาก

ส่วนอาหารการกินก็ครบเครื่อง โดยเฉพาะ “กุ้งแม่น้ำเผา” และอาหารไทยอีกหลายรายการ

9.สดใส ดอกไม้บาน ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น

มาเยือนเมื่อไหร่ก็สุขใจทุกครั้ง สำหรับ “หมู่บ้านญี่ปุ่น” อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านของชาวญี่ปุ่นจริง ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากตอนนั้นชาวญี่ปุ่นเข้ามาเป็นทหารรับจ้างและค้าขายในเมืองไทย ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  และอนุสรณ์สถานระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น มีนิทรรศการและมัลติมีเดีย “ยามาดะ นางามาสะ” และ “ท้าวทองกีบม้า” บุคคลสำคัญชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทในราชสำนักอยุธยา

ใครไปเยือนหมู่บ้านญี่ปุ่นในช่วงนี้ จะได้ฟีลที่ใกล้เคียงญี่ปุ่นขึ้นไปอีกหน่อย แม้เมืองไทยจะอากาศร้อน แต่ด้วยที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีสภาพเงียบสงบ โล่ง โปร่ง สบาย การจัดสวนและนิทรรศการแบบเรียบง่าย แต่ก็ไม่ทิ้งความตะมุตะมิแบบญี่ปุ่น อีกทั้งบรรดาดอกไม้ใบหญ้าที่กำลังเบ่งบาน ยิ่งเพิ่มบรรยากาศแห่งความสุขได้เป็นอย่างดี

วันนี้ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น มีเสิร์ฟน้ำมะพร้าว และขนมไทยอย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง แสดงถึงฝีมือของ “ท้าวทองกีบม้า” ในการทำขนมไทยที่ผสามผสานสไตล์โปรตุเกส

เนื่องจากสมัยก่อน หมู่บ้านญี่ปุ่น จะตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส ด้านข้างก็ติดกับหมู่บ้านหมู่บ้านอังกฤษและหมู่บ้านดัตช์ จึงไม่แปลกที่เรื่องราวต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความสัมพันธ์ของคนไทยและคนจากหลายเชื้อชาติเกิดเป็นความงดงามประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน

ททท. คาดว่ารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นี้จะสามารถส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน อาหาร การแต่งกายสถาปัตยกรรม เทศกาลงานประเพณี ตลาดการค้าท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ต่อไป

ดังนั้นใครที่อยากสัมผัสหลากมิติอัน ตาม “วิถีชาวน้ำอยุธยา” งดงาม ที่มีทั้งความเก๋า และ เก๋ ในเวลาเดียวกัน ทริปหน้าเตรียมออกเดินทางได้เลย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา (พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี)

โทร.035 246 076

https://www.facebook.com/TAT.Ayutthaya/