กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าเร่งรัดกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก โดยเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้และปีแรกนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่องกระจายทุกภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินการ พร้อมตั้งเป้าลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ภายในปี 2568
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “เชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการป้องกันและดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก” ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก และจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมารดาที่ติดเชื้อมีปริมาณไวรัสตับอักเสบ บี ในเลือดสูง หากทารกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดา จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรังมากถึงร้อยละ 90 และสามารถพัฒนาเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต โดยจากการสำรวจความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบ บี ในคนไทย พบว่าปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาประมาณ 3,800 คนต่อปี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขอความร่วมมือให้ทุกประเทศร่วมกันกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยมีเป้าหมายให้ความชุกของการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ภายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ให้บรรลุได้ภายในปี 2568 ภายใต้การดำเนินงานตามแผนการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก และกำหนดมาตรการที่สำคัญ ได้แก่
1.เร่งรัดการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี ในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
2.ส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้รับ Hepatitis B Immunoglobulin (HBIG) อย่างน้อยร้อยละ 95
3.ส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและมีปริมาณไวรัสตับอักเสบ บี สูง ได้รับยาต้านไวรัส อย่างน้อยร้อยละ 95
4.คงระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี โดยใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กแรกเกิด จนมีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 99 แต่ยังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มากกว่าร้อยละ 0.1 ซึ่งชี้ว่าการป้องกันการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเสริม นอกเหนือจากการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ได้แก่ การใช้ยาต้านไวรัส Tenofovir disproxil fumarate (TDF) แก่มารดา เป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ โดยในประเทศไทยมีการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศฝรั่งเศส (IRD) ซึ่งนักวิจัยทั้งชาวไทย อเมริกัน และยุโรป ร่วมกันศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าว ผลการวิจัยพบว่าในกลุ่มที่มารดาได้รับยาต้านไวรัสดังกล่าวเพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ไม่มีทารกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาเลย เทียบกับกลุ่มที่มารดาได้รับยาหลอกที่พบการติดเชื้อจากมารดาร้อยละ 2 ในขณะที่การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ได้รายงานอัตราการถ่ายทอดเชื้อที่สูงกว่านี้
โดยในปี 2561 นี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำ “โครงการกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก” ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว โดยเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ และในปีแรกนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ นนทบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อนำร่องระบบการดำเนินงานกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ทั้งนี้ ในการดำเนินงานกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก ครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของมารดา และทารก อันเป็นกำลังหลักที่สำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัส โทร. 0-2590-3196 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422