“ธนาคารเวลา” สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

55

ออมเงิน อย่าลืม!! ออมเวลา สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ลุย จ.เชียงใหม่ เปิดธนาคารเวลากลาง ขยาย 15 เครือข่าย ต้นแบบนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย แลกเวลาข้ามจังหวัด ชวนทุกเพศ-ทุกวัยสมัครสมาชิก สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ศูนย์บริการคนพิการ ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมพลังเครือข่ายธนาคารเวลากลาง ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า “ธนาคารเวลา” หรือ “Time Bank” เป็นนวัตกรรมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความสัมพันธ์ ที่จะช่วยคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกฐานะ ภายใต้บริบทสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ที่มีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน ให้มีสุขภาวะดีรอบด้านทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม

ที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ฟื้นฟูชุมชน สร้างความเข้าใจ พัฒนาเครือข่ายที่เข้าร่วมธนาคารเวลา ให้เห็นความสำคัญของการดูแล ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม หวังผลให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการออมเวลา และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยสามารถเบิกถอนเวลาเพื่อรับความช่วยเหลือไปใช้ในยามจำเป็นได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุมากขึ้นหรือเข้าสู่วัยเกษียณ ภายใต้แนวคิดการเป็นผู้ให้และผู้รับได้อย่างเท่าเทียม เช่น ขับรถพาไปโรงพยาบาล ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัดต้นไม้ ดูแลบ้าน ช่วยตัดเล็บ ตัดผมผู้สูงอายุติดบ้าน แล้วสะสมแต้มเป็นเวลากับนายธนาคารเวลา เมื่อต้องการความช่วยเหลือสามารถมาเบิกถอนใช้ขอรับความช่วยเหลือได้ โดยไม่ต้องเกรงใจหรือร้องขอ

ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่นำร่องทดลองใช้นวัตกรรมธนาคารเวลาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีเครือข่ายธนาคารเวลาที่ สสส. สนับสนุนในรูปแบบธนาคารเวลาในชุมชนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายต่าง ๆ กว่า 80 แห่ง โดยในพื้นที่เครือข่ายภาคเหนือมีธนาคารเวลา 15 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ 12 แห่ง เชียงราย 2 แห่ง ลำปาง 1 แห่ง

“สสส. เดินหน้าเชิงรุก สนับสนุนให้เกิดธนาคารเวลาผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในชุมชน และเครือข่ายสื่อที่หลากหลาย มีเป้าหมายทำให้เกิดธนาคารเวลาในชุมชนและเครือข่าย และนำไปสู่การเกิด “ธนาคารเวลากลาง” ที่มีกฎระเบียบแนวทางเดียวกันในเครือข่ายของ สสส. และระดับประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต เพื่อทำให้สมาชิกทุกคนสามารถแลกเวลาข้ามจังหวัด หรือเครือข่ายกันได้

จ.เชียงใหม่ จะเป็นโมเดลต้นแบบที่เริ่มใช้ระเบียบแนวทางเดียวกันทุกเครือข่าย พร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบแอปพลิเคชันธนาคารเวลาสำหรับสมาชิกที่รองรับสมาร์ตโฟน เพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งการเอื้ออาทรกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เกิดเป็นความสุขสร้างสรรค์ในชุมชนภายใต้บริบทสังคมสูงวัย ให้ดีขึ้นต่อไป” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
ปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย กล่าวว่า ธนาคารเวลากลางจะเป็นเครื่องมือรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางหรือองค์กรแม่ข่าย (umbrella organization) บริหารจัดการ กำหนดมาตรฐานให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่น กลายเป็นนวัตกรรมช่วยเหลือกันข้ามพื้นที่ได้ ด้วยการกระตุ้นชุมชนที่ร่วมโครงการให้สานพลังพัฒนาระบบในทิศทางเดียวกัน

จ.เชียงใหม่ ผลักดันเรื่องนี้มาเกือบ 5 ปี เป็นหน่วยงานหลักเชื่อมประสานเครือข่ายธนาคารเวลาภาคเหนือ เพื่อเป็นต้นแบบนำร่องให้ทุกพื้นที่ใช้ระเบียบการเป็นผู้ให้และผู้รับข้ามจังหวัดด้วยวิธีการข้ามธนาคารได้ ภายใต้แนวคิด “ไว้วางใจ ปลอดภัยให้บริการ” มีผู้จัดการธนาคารเป็นคนกลางรับรองความปลอดภัย ทุกการช่วยเหลือคิดเป็น 1 เครดิต ออมเวลา 1 – 3 ชม. ขึ้นอยู่กับกิจกรรม

ปัจจุบัน ต.ชมภู อ.สารภี อยู่ระหว่างทดลองใช้ข้ามพื้นที่ พัฒนาโครงการ 3 ประเด็น 1.สร้างแอปพลิเคชัน และเว็บแอปสำหรับการเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร 2.ทำระบบสนับสนุนให้คำแนะนำชุมชนเสริมพลังต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในชุมชน 3.กำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการข้อมูล คัดเลือกสมาชิก บริหารจัดการ ระบบประเมินผลติดตาม และทำรายงานสรุปเพื่อพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น
“ธนาคารเวลา จ.เชียงใหม่ เป็นเครื่องมือที่ใช้รองรับสังคมสูงวัยสำหรับทุกคน เช่น วัยรุ่นที่เป็นสมาชิก ประสบอุบัติเหตุ ต้องการร้องขอใช้เครดิตการออมเวลาที่ฝากไว้ให้คนที่เป็นสมาชิกด้วยกันมาดูแลระหว่างอยู่โรงพยาบาลก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอให้เกษียณหรืออายุ 60 ปีขึ้นไปถึงใช้ได้

ปัจจุบันมีการทำคลังอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้สมาชิกนำไปช่วยเหลือกันและกัน ในคลังจะมีอุปกรณ์สำคัญ เช่น กรรไกรตัดผม อุปกรณ์ทำสวน วีลแชร์ ให้สมาชิกยืมไปทำกิจกรรมช่วยเหลือกันได้ ผ่านหลักคิดการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่มีระบบลายลักษณ์อักษรการเป็นสมาชิกธนาคารเวลาที่ชัดเจน” ปิติพร กล่าว