PIAGET EXTRALEGANZA

56

สำหรับ Watches and Wonders 2023 เพียเจต์ยังคงขีดเขียนตำนานบทใหม่ไม่หยุดยั้ง โดยหยิบเอาความขบถที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการนาฬิกาและจิวเวลรี่ช่วงยุค 1960s และ 1980s มาผสานลงบนแก่นกลางของการรังสรรค์เรือนเวลาชิ้นใหม่ สะท้อนจิตวิญญาณของแบรนด์อย่าง bold, distinctive, original ให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างทรงพลัง

“To always do better than necessary” คือ ปรัชญาที่เมซงยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบัน ชิ้นงานในแต่ละคอลเลกชั่นจึงสอดแทรกไปด้วยหัตถศิลป์อันละเมียดละไมไม่ว่าจะเป็น goldsmithing ทักษะของช่างทองในอเตลิเยร์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ออกมานอกกรอบและเป็นที่น่าจดจำ, ornamental stones ที่ท้าทายตั้งแต่การแสวงหาหินสี ไปจนถึงรูปแบบการเจียระไนเพื่อรักษามู้ดแอนด์โทนของชิ้นงานให้ไล่เรียงเฉดกันอย่างกลมกลืน, high jewellery gem-setting ขึ้นชื่อว่าอัญมณี แต่ละชนิดก็ใช้เทคนิคที่ต่างกัน นอกจากคำนึงถึงฟังก์ชั่นและสุนทรียศาสตร์ในการออกแบบแล้ว องค์ประกอบอย่าง ความเปราะบาง ความโปร่งใส ขนาด ก็ต้องอาศัยชั้นเชิงของช่างไม่แพ้กัน

เพียเจต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1874 ณ หมู่บ้าน La Côte-aux-Fées ซึ่งแทรกตัวอยู่ในเขตเทือกเขา Jura แม้ขณะนั้นจะเป็นเพียงโรงงานผลิตชิ้นส่วนกลไก แต่ทุกชิ้นส่วนคุณภาพสูงกลับถูกกว้านซื้อโดยบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำเพื่อนำไปรังสรรค์ เรือนเวลาของตนเองทั้งสิ้น – ปี 1957 หน้าประวัติศาสตร์สำคัญของเพียเจต์ที่ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูง คือ การเปิดตัวกลไกจักรกลที่บางที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น อย่าง Caliber 9P ด้วยความหนาเพียง 2 มิลลิเมตร ผลงานซิกเนเจอร์นี้กลายเป็นลายเซ็นที่สร้างชื่อให้เพียเจต์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของผู้ผลิตนวัตกรรมเรือนเวลาที่สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยความเพรียวบางอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้เพื่อแสดงความเคารพต่อหัตถศิลป์ชั้นยอด เมซงยังหยิบเอาวัสดุ

ล้ำค่า อย่าง ทองคำ หรือ แพลทินัม มาประกอบเป็นตัวเรือนเข้ากับ Caliber 9P อีกด้วย ซึ่งหลังจากแบรนด์ประกาศทิศทางการทำงานโดยมุ่งเน้นไปที่การใช้โลหะมีค่า หรือ precious metal มาผลิตนาฬิกาเท่านั้น น้อยคนนักที่จะอ่านเกมได้ว่าทักษะความเชี่ยวชาญของช่างทองในเมซงจะถ่ายทอดชิ้นงานออกมาได้ตราตรึงมากน้อยเพียงใด จนกระทั่งในปี 1969 ก่อนก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพียเจต์ได้เผยโฉมคอลเลกชั่นที่เต็มไปด้วยความล้ำสมัย กับผลงานการออกแบบที่หลอมรวมคอนเซ็ปต์ และกลิ่นอายของความเป็นกูตูร์จากรันเวย์ที่ปารีสได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาสไตล์ Cuff watch และ นาฬิกาที่มาในดีไซน์สร้อยเส้นยาวแบบ sautoir ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ Valentin Piaget โดยเขาได้ส่งทีมดีไซเนอร์เข้าร่วมชมโชว์โอตกูตูร์ ก่อนนำแรงบันดาลใจกลับมายังสตูดิโอที่สวิตเซอร์แลนด์

สำหรับปี 2023 นี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อศาสตร์ด้านการทำทองที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนานของเมซง
คอลเลกชั่นใหม่ที่นำเสนอจึงผนวกทักษะอันเป็นเลิศของช่างฝีมือไว้ครบครัน อย่างเช่น

High Jewellery Swinging Sautoir เน้นการเอาทองคำบิดเกลียวมารังสรรค์ ซึ่งกว่าจะได้ดีไซน์แบบบิดเกลียวที่พอเหมาะกับชิ้นงาน ต้องใช้เวลาในการขึ้นรูป แต่ละเส้นไม่น้อยกว่า 130 ชั่วโมง โดยช่างฝีมือจะเริ่มต้นจากนำเส้นลวดทองคำมาพันรอบ mandrel เพื่อให้ได้ลักษณะเป็นขด จากนั้นนำมาบิดต่อด้วยมือทีละเส้น ก่อนถักทอและประกอบเข้าด้วยกัน และนี่คืองานคราฟต์ชั้นครูทั้ง 2 ชิ้น ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของ sautoir watch ปี 1969

• G0A48060 – มาในสไตล์ tassel โดดเด่นด้วยมรกตเจียระไนทรงคาโบชงจากแซมเบีย ขนาด 25.38 กะรัต ที่ถูกออกแบบให้รับกับดีไซน์หน้าปัดรูปไข่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซิกเนเจอร์ดั้งเดิมของเมซงตั้งแต่ยุค 1960s

• G0A48061 – ถือเป็นอีกไฮไลต์ที่ต้องพูดถึง มาพร้อมตัวเรือนโอบล้อมด้วยทองคำบิดเกลียว รับกับหน้าปัดที่แกะสลักลวดลายแบบ Palace Décor หนึ่งในเทคนิคหัตถศิลป์เก่าแก่ของเมซง

Limelight High Jewellery Cuff watch นาฬิกาทรงกำไลเป็นที่นิยมอย่างมาก นับตั้งแต่เพียเจต์เปิดตัวครั้งแรกในปี 1969 ซึ่งนอกจากจะประดับด้วยฮาร์ดสโตนหลากสีสันแล้ว ยังหลอมรวมศาสตร์แห่งทองคำไว้ด้วยเช่นกัน อาทิ Palace Décor ถือเป็นหนึ่งในเทคนิคหัตถศิลป์เก่าแก่ของเมซงที่มีมาตั้งแต่ยุค 1960s และได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคการแกะสลักลวดลายกิโยเช่ที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา โดยช่างฝีมือจะใช้อุปกรณ์เฉพาะทางที่มีปลายแหลม ในการสร้างลวดลายลงบนสายนาฬิกาเพื่อให้ดูมีมิติสมจริงและมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

• G0A48255 – Cuff watch ที่นำเสนอประกายของทองคำผ่านเทคนิค Palace Décor มาพร้อมหน้าปัดประดับ เทอร์ควอยซ์เฉดสีหายากอย่าง สีเปลือกไข่นกโรบิน หรือ robin-egg blue ขอบตัวเรือนประดับแซฟไฟร์ไล่เฉดสีโทนเดียวกับหน้าปัด

นอกจาก Palace Décor ที่เป็นซิกเนเจอร์แล้ว ยังต่อยอดแรงบันดาลใจเป็นแพทเทิร์นต่างๆ ที่มักถ่ายทอดต้นแบบมาจากธรรมชาติ ตลอดจนความมหัศจรรย์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ

• G0A48254 – Cuff watch มาพร้อมตัวเรือนและสายนาฬิกาที่ชวนให้นึกถึงเท็กซ์เจอร์ของเปลือกไม้และลายของเนื้อไม้ ประดับหน้าปัดด้วยโอปอลสีขาว

• G0A48256 – Cuff watch นาฬิกาทรงกำไลที่จำลองความมหัศจรรย์ของน้ำค้างแข็ง หรือ frost ในฤดูหนาวมาไว้บนตัวเรือนได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่หน้าปัดประดับด้วยแบล็คโอปอลและมรกตไล่เฉดสีบริเวณขอบตัวเรือน

ความแปลกตาอีกอย่างที่ช่วยส่งให้ Cuff watch ทั้ง 3 ดีไซน์นี้ไม่เหมือนใคร คือ การออกแบบในสไตล์อสมมาตร ราวกับว่าองค์ประกอบของหน้าปัดค่อย ๆ แทรกตัวออกมาจากนาฬิกาทรงกำไลอย่างสง่างาม

หลังเมซงปล่อย Piaget Polo Perpetual Calendar พื้นหน้าปัดสีเขียวตกแต่งลาย godrons ที่ผนวกคอมพลิเคชั่นมูนเฟสเข้ามาในคอลเลกชั่นเพียเจต์ โปโล ได้สำเร็จ ล่าสุดได้ปลดล็อกความท้าทายอีกขั้น ด้วยการหยิบเอาหินสีมาสร้างสรรค์หน้าปัด โดยแบรนด์เลือกใช้ออบซิเดียนเฉดสีน้ำเงินเพื่อสื่อถึงท้องฟ้าที่มีชีวิตชีวายามค่ำคืน ขณะที่ประกายเหลือบสีเงินบนหน้าปัด เป็นความแวววาวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากมนทินของผลึกแร่ หรือ ของเหลวซัลไฟด์ที่อุดมด้วยแร่ธาตุเกิดการแข็งตัว ในเนื้อออบซิเดียน ซึ่งแม้จะเป็นหินสีชนิดเดียวกันแต่เสน่ห์ของเรือนเวลาชิ้นนี้ย่อมมีความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังเลือกตกแต่งขอบตัวเรือนด้วยแซฟไฟร์เฉดสีเดียวกันอีกด้วย

หากเอ่ยถึงเรือนเวลาและเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง เพียเจต์คือหนึ่งในไม่กี่เมซงที่มีความเชี่ยวชาญในทั้งสองศาสตร์
อย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่ปี 1957 โดยหนึ่งในผลงานที่กลายเป็นไอคอนิกชั่วพริบตาเมื่อครั้งเปิดตัวในปี 1989 ก็คือ นาฬิกา ไฮจิวเวลรี่ Aura ซึ่งตั้งชื่อตามการส่องประกายของอัญมณีที่ชวนให้ลุ่มหลงและไม่ว่าใครก็ต่างหยุดมอง

นอกจากนำเสนอความท้าทายในเชิงเทคนิคของสายนาฬิกาและตัวเรือนที่ผสานเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การฝังเพชรแต่ละเม็ดให้เรียงตัวอย่างประณีตและเชื่อมต่อกันอย่างแนบสนิทไร้รอยต่อถือเป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่แบรนด์พัฒนาดีไซน์และก้าวผ่านขีดจำกัดดั้งเดิมได้อย่างไร้ที่ติ

ล่าสุดเพียเจต์ได้หยิบความสง่างามของ Aura มาถ่ายทอดอีกครั้งโดยเรียงร้อยความงดงามของเพชรและแซฟไฟร์เข้าด้วยกัน ซึ่งเมซงใช้เวลากว่า 8 เดือนในการแสวงหาแซฟไฟร์เพื่อให้ได้โทนสีน้ำเงินที่ไล่เฉดตามต้องการ โดยแต่ละเม็ดฝังแบบ ultra-thin claw ซึ่งเทคนิคนี้นอกจากจะไม่ปรากฏหนามเตยให้เห็นแล้ว ยังช่วยให้แสงส่องผ่านอัญมณีมากขึ้น จึงส่งมอบชิ้นงานที่ส่องประกายระยิบระยับได้อย่างไร้ที่ติ ขณะที่หน้าปัดตกแต่งด้วยเพชรทรงบาแก็ตต์ที่เรียงตัวเป็นลายรัศมีดวงอาทิตย์ ซึ่งขั้นตอนการฝังอัญมณีทั้งหมดใช้เวลากว่า 260 ชั่วโมง มีให้เลือกทั้งหมด 2 ขนาด และขับเคลื่อนโดยกลไก 430P แบบไขลานด้วยมือที่บางเฉียบเป็นพิเศษของเมซง

ช่างฝีมือของเพียเจต์ผ่านการบ่มเพาะหัตถศิลป์ต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นเหมือนสัญชาตญานที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการทำทองที่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่พลิ้วไหวราวกับเสื้อผ้าโอต์กูตูร์, เทคนิคการแกะสลักที่เสริมประกายงามของวัสดุแต่ละชิ้นให้เจิดจรัส, การสรรหาหินสี ตลอดจนรูปแบบการฝังอัญมณี กล่าวได้ว่า เพียเจต์ยังคงรักษาความประณีตบรรจงในทุกรายละเอียด ขณะเดียวกันก็กล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และค้นหาแรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์ เพราะทุกชิ้นงานเปรียบดั่งผลงานทางศิลปะอันล้ำค่านั่นเอง