“หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” กับช่วงเวลาดี ๆ ในแดนประวัติศาสตร์เมืองละโว้

121

มนต์ขลังทางประวัติศาสตร์ คือความงดงามทางวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพอดีตอันทรงคุณค่า เรื่องราวแต่ครั้งโบราณของเมืองไทยหลายต่อหลายอย่าง ถือเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่หาชมได้ยาก หากมีโอกาสจึงอยากให้ทุกคนได้เห็นด้วยตาสักครั้ง เช่นเดียวกับทริปนี้ ณ จังหวัดลพบุรี

“หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” อีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย มุ่งมั่นผสานความร่วมมืออย่างเต็มกำลัง ภายใต้โครงการ “ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์”เพื่อผลักดันให้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็น Amazing Experience ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และนำสู่ความยั่งยืน

ถือเป็นกิจกรรมที่เดินหน้าต่อจากเส้นทาง “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” และเส้นทาง “วิถีชาวน้ำแห่งอยุธยา”รูปแบบของเส้นทางท่องเที่ยวดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมโยงแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถนำเสนอเนื้อหาการท่องเที่ยวได้อย่างสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงและเข้มแข็งสำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคต

ตามรอยมรดกทางวัฒนธรรม “ลุ่มน้ำป่าสัก”
ของว่างต้อนรับคณะ เป็น “เมี่ยงคำ” กับ “ลูกหม่อนสด”
การนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลในพิพิธภัณฑ์

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์เมืองละโว้  เริ่มต้นที่ “พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” ตั้งอยู่ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีการขุดพบหลักฐานสำคัญในด้านโบราณคดี  ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การดำรงชีวิต ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนในบริเวณนี้

รวมทั้งยังได้รวบรวมข้อมูลด้านการชลประทาน ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนป่าสัก ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์  และทรัพยากรธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในอาคาร 2 ชั้น ออกแบบอย่างสวยงาม แบ่งหมวดหมู่สำหรับการเรียนรู้ที่เข้าใจง่าย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความน่าสนใจ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมอีกด้วย

คุณยาย กับขนมเบื้องตามแบบฉบับของชาวไทยเบิ้ง
อยู่ดี กินดี วิถีไทยเบิ้ง

หากพบเห็นใครที่มีชื่อหรือนามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า “สลุง” ให้สันนิษฐานได้ว่าเขาคือชาวไทยเบิ้ง เพราะที่นี่มีนามสกุลที่ลงท้ายคำว่า “สลุง” มากกว่า 60 ตระกูล

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ชุมชนไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง อาศัยอยู่ในจังหวัดลพบุรีมามากกว่า 260 ปี ชุมชนแห่งนี้มีวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านภาษาที่มีเสียงเหน่อและมีคำว่า “เบิ้ง” ลงท้ายอยู่เสมอ ชาวบ้านมีภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายเฉพาะ สังเกตได้จากผ้าขาวม้าและย่ามอันเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อกระโจม นุ่งผ้าโจงกระเบนสีพื้น ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม หากมีงานพิธีจะมีผ้าสไบและสะพายย่าม

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง เป็นจุดท่องเที่ยวและทำกิจกรรมพื้นบ้านกับชาวไทยเบิ้ง โดยในวันนี้ชาวบ้านต้อนรับด้วยการแสดงรำโทน นักท่องเที่ยวหลายท่านกระโดดร่วมรำวงอย่างสนุกสนาน จากนั้นได้เรียนรู้วิถีไทยเบิ้ง อาทิ การทำพริกตะเกลือ อาหารพื้นถิ่นที่กินเป็นของว่างจิ้มกับผลไม้ และดัดแปลงเป็นของคาวอย่างน้ำพริก โดยมีวัตถุดิบหลักคือ กระเทียม พริกคั่วบด เกลือ ใบมะกรูด และ ลูกกำจัด เอกลักษณ์ของอาหารไทยเบิ้ง

นอกจากนั้นยังได้ร่วมทำและชิม “ขนมเบื้อง” เป็นขนมเบื้องแบบไทยเบิ้ง ที่จะทำกินกันในยามว่าง ใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย ๆ อย่างแป้งข้าวเจ้า ไข่ไก่ น้ำตาลทราย กะทิ และเกลือ บ้างก็ผสมเนื้อมะพร้าวอ่อนลงไปในแป้ง ลักษณะเป็นแป้งนุ่ม ๆ บาง ๆ กินง่าย ไม่หวานมาก

สำรับแบบไทยเบิ้ง สวยงาม เปิดประสบการณ์อาหารถิ่นได้อย่างน่าประทับใจ

จากนั้นก็ไปลองทำพวงมะโหด ก่อนจะไปอิ่มอร่อยกับชุดอาหารถิ่นไทยเบิ้งในมื้อเที่ยง ที่จัดเต็มแบบจุก ๆ เรียงรายมาทั้งต้ม แกง ทอด น้ำพริกผัดต้ม และขาดไม่ได้กับ “เครื่องดำ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำพริกคั่วแห้ง ๆ ที่มีส่วนผสมของกำจัด แม้จะเป็นรสชาติที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่นับเป็นการเปิดประสบการณ์อาหารถิ่นอันน่าประทับใจ

(ติดต่อกิจกรรมและนัดหมายการเข้าชมล่วงหน้า)

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง

ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

โทร.084 978 6782

 

งดงามแต่กาลไกล พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือที่ชาวลพบุรีนิยมเรียกว่า “วังนารายณ์” เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับล่าสัตว์ออกว่าราชการและต้อนรับแขกเมือง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ภายหลังได้จัดตั้งเป็นลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน และประกาศเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” ในปี พ.ศ. 2504

ด้วยความงดงามงามและมนต์ขลังของพระราชวังสไตล์ไทยผสมตะวันตก ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ส่งผลให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เหมาะแก่การเข้าชมเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

ในวันนี้คณะนักท่องเที่ยวยังได้รับชมการแสดงนาฏศิลป์อันสวยงามจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีลพบุรี ในชุด “ระบำลพบุรี” และ “ระบำลิง” ยิ่งเพิ่มความรื่นรมย์ภายใต้บรรยากาศอันงดงาม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รับหน้าที่เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตลอดทริปนี้

พระที่นั่งเย็น จุดกำเนิดวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่

“พระที่นั่งไกรสรสีหราช” หรือ พระที่นั่งเย็น หรือ ตำหนักทะเลชุบศร เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ

บันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่า ทำเลที่ตั้งพระที่นั่งไกรสรสีหราชไว้ว่า “เป็นที่เหมาะสมสำหรับมองท้องฟ้าได้ทุกด้านและมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับการติดตั้งเครื่องมือ” โดยบุคคลที่กล่าวประโยคนี้คือหนึ่งใน คณะฑูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีพร้อมบาทหลวงเจซูอิตกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี 2228

จากนั้นจึงมีรับสั่งให้สร้างพระที่นั่งไกรสรสีหราชขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับพักร้อน และใช้สำรวจจันทรุปราคาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ยังเป็นบอกให้รู้ว่าการศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็นเมืองลพบุรี

 

เยือนบ้านฟอลคอน ย้อนยลสถาปัตยกรรมยุโรป

บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์ อยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นที่รองรับราชทูตที่มาเฝ้าฯสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี

คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พำนัก ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เข้ามารับราชการได้รับความดีความชอบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” และได้พระราชทานที่พักอาศัยทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต

โครงสร้างการออกแบบและแผนผังของบ้านแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ อาคารที่พักอาศัยของคณะทูต หอระฆังและโบสถ์คริสต์ และกลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปในแบบเรอเนซองส์ อันเป็นที่แพร่หลายในสมัยนั้น

งดงาม ทรงคุณค่า ประติมากรรมลายปูนปั้นวัดไลย์

“วัดไลย์”​ตั้งอยู่อยู่ริมน้ำบางขาม ในเขตตำบลเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง  เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือประติมากรรมปูนปั้นเรื่องราวทศชาติชาดกหน้าวิหารเก้าห้อง  ถือเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ ภายในวัดไลย์ยังมีวิหารที่ประดิษฐานของรูปหล่อพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

ภายในวัดยังมีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองลพบุรีให้ชมอีกมากมาย เช่น พระวิหารเก่าฐานบัวคว่ำ วิหารรูปมณฑปยอดปรางค์ และพิพิธภัณฑ์ประจำวัด ซึ่งมีของเก่ามากมายให้ได้ชม เช่น พระพุทธรูป เครื่องหมาย เครื่องลายคราม เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ เป็นต้น

ขนมเต่า ภูมิปัญญาแห่งสิริมงคล

ปิดท้ายทริปนี้ด้วยขนมโบราณอย่าง “ขนมเต่า” และ “ขนมต้มญวน” ขนมโบราณที่สืบทอดภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะขนมเต่าซึ่งมีชื่อน่ารักสะดุดหูรูปลักษณ์สะดุดตา เป็นของดีจาก ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี นิยมทำในงานมงคลต่าง ๆ เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน จึงเชื่อว่าใครได้กินขนมเต่าถือเป็นมงคลแห่งชีวิต

ขนมเต่าที่มีรุปร่างคล้ายเต่า ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำกะทิ และน้ำตาลปี๊บ ส่วนไส้ทำจากถั่วซีกแช่น้ำให้นุ่มแล้วนำไปนึ่งให้สุก มานำมาผัดกับกะทิ วิธีการทำก็น่ารัก โดยจะใช้แป้งที่เหนียวได้ที่ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ ขนาดลูกปิงปอง จากนั้นก็นำใส่พิมพ์ที่ทำจากไม้ ใส่ไส้ลงไป แล้วปิดตัวจนรอบ จากนั้นก็นำไปนึ่งจนสุก ขนมเต่าจะมีความเหนียวนุ่ม หอมน้ำตาลและกะทิ รสชาติไม่หวานมาก รับประทานได้เพลิน ๆ ถูกอกถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่