ttb analytics คาด อินเดียก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 5 ของไทยในปี 2566

30

ttb analytics คาด อินเดียก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 5 ของไทยในปี 2566 ด้วยมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่า 4.2 แสนล้านบาท จากกำลังซื้อที่เร่งตัวในทศวรรษนี้

อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก โดยมีอัตราคาดการณ์เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 6.1% ต่อปีในช่วงปี 2566-2571 ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากโครงสร้างประชากรในวัยแรงงานที่อยู่ในช่วงกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 180 ล้านคน ทำให้สัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 51% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ส่งผลให้อินเดียเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตา โดยเฉพาะในปี 2566 นี้ ตลาดอินเดียมีโอกาสขยับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกถึง 4.2 แสนล้านบาท

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง จากการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 5.9% ในปี 2566 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 สำหรับในระยะต่อไปบนศักยภาพของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะสามารถรักษาการเติบโตเฉลี่ยที่ 6.1% ในช่วงปี 2566-2571 หนุนด้วยการเติบโตของกำลังซื้อในประเทศในอัตราเร่ง ทำให้อินเดียเริ่มนำเข้าสินค้าหลายรายการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามกำลังซื้อ ส่งผลให้อินเดียขยับจากการเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 10 ของไทยในปี 2562 ด้วยมูลค่า 2.28 แสนล้านบาท

และเร่งตัวขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 ในปี 2565 ด้วยมูลค่า 3.64 แสนล้านบาท หรือเติบโต 34.2% จากปี 2564 สำหรับในปี 2566 เมื่อพิจารณาบนพื้นฐานของการเติบโตในอัตราเร่งของเศรษฐกิจ ทำให้อินเดียมีโอกาสขยับสถานะเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 5 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออก 4.2 แสนล้านบาท หนุนด้วยโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อในประเทศในระยะยาว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติดังนี้

1) มิติเชิงปริมาณ ประเทศอินเดียปัจจุบันพบว่ามีประชากรอยู่ในวัยแรงงานจำนวน 874.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสูงถึง 1,054 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 178.6 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดส่งออกหลักอันดับ 4-6 เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พบโครงสร้างประชากรอยู่ในวัยแรงงานที่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นที่ 2.0 ล้านคน 14.9 ล้านคน และ 4.9 ล้านคน ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกลำดับ 3 ของไทย เช่น ประเทศญี่ปุ่น พบโครงสร้างประชากรอยู่ในกำลังแรงงานที่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะลดลงถึง 6.0 ล้านคน ซึ่งในมิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนแรงงานในจำนวนมหาศาลของอินเดียเป็นปัจจัยเร่งต่อกำลังซื้อในมิติของปริมาณ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2) มิติเชิงคุณภาพ ผ่านการยกระดับสถานะทางรายได้ เนื่องจากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียมีการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวสูงถึง 56% เป็นลำดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก สอดคล้องกับงานศึกษาของ Bain & Company ที่ประมาณการว่าในปี 2573 จะมีประชากรอินเดียที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูงขึ้นไป จำนวนมากกว่า 500 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เร่งตัวขึ้นจากปี 2561 ที่มีสัดส่วนเพียง 24% ซึ่งผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันกับงานศึกษาขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ชี้ว่าในปี 2573 ประชากรอินเดียจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางมากที่สุดหรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางทั่วโลก ซึ่งในมิติการเปลี่ยนสถานะทางรายได้ เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยให้เพิ่มในอัตราเร่ง

ดังนั้น ด้วยการเติบโตของตลาดส่งออกอินเดียในปี 2566 คาดว่าจะขยับสถานะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 5 ของไทย และบนทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว ttb analytics ประเมินว่าภายในปี 2575 ประเทศอินเดียมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 3 ของไทยแทนที่ญี่ปุ่น ด้วยแรงผลักดันจากกลุ่มสินค้าทั้งกลุ่มมูลค่าส่งออกสูงและสินค้าที่มีศักยภาพขยายตัวสูง ดังต่อไปนี้

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูง เช่น กลุ่มน้ำมันพืช เม็ดพลาสติก และ เคมีภัณฑ์โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.16 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 31.8% ของการส่งออกรวมไปอินเดีย ซึ่งแนวโน้มสินค้ามูลค่าส่งออกสูงเป็นกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีการเติบโตตามกำลังซื้อของประชากรที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากโครงสร้างรายได้ในปี 2561 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนรายได้ปานกลางในระดับต่ำ (Lower Middle-Income) อยู่ที่ 57% และมีสัดส่วนครัวเรือนรายได้ต่ำ (Low-Income) อยู่ที่ 43% แต่มีการประมาณการว่าในปี 2573 สัดส่วนครัวเรือนรายได้ต่ำจะลดลงเหลือเพียง 15% ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ปานกลางในระดับต่ำขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 85%

กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพการขยายตัวสูง เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนสถานะไปสู่สังคมที่มีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น โดยประมาณการว่าในปี 2573 จะมีสัดส่วนครัวเรือนรายได้ปานกลางในระดับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 51% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2561 ที่มีสัดส่วนเพียง 24% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีกำลังซื้อสูงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง และ อาหารกลุ่มพรีเมียม ในปี 2565 มีมูลค่าส่งออกไม่มากแต่มีอัตราการเติบโตสูง

กล่าวโดยสรุป อินเดียเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจและมีศักยภาพการขยายตัวสูงที่สุดตลาดหนึ่งในตลาดเศรษฐกิจใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีข้อได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมภาคการค้าของอินเดียไปยังตลาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ส่งผลให้ไทยควรใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านข้อตกลงการค้าที่สำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) และ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ และเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะท่าเรือฝั่งตะวันตกของไทยเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าสำคัญของภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสการยกระดับเป็นคู่ค้าสำคัญของตลาดอินเดียที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง