ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าเมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 จำนวนประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคตเห็นได้ชัดเจนจากการที่ประชากรรุ่นที่เกิดเกินกว่าล้านคนต่อปี ระหว่างปี 2506-2526 (ขณะนี้มีอายุ 33-53 ปี) และอีก 20 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นผู้สูงอายุ 53-73 ปี ทำให้สัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะสูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด
และนั่นคือประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อแก่ตัวลง ปัญหาสำคัญคือปัญหาด้านสุขภาพทั้งกายและใจ หากมีการดูและป้องกัน รวมทั้งเฝ้าระวังไว้ก่อน ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยมีภาวะสุขภาพที่ดีได้
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย(มส.ผส.)จัดงานเปิดตัว “แอพพลิเคชันชราเฮโย” แอพพลิเคชั่นที่จะช่วยประเมินแนวโน้มสุขภาพในอนาคตที่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมี พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ หรือ หมอเมย์ และคุณแม่ ร่วมเสวนาเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2559 มีการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายพบว่า โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ได้แก่โรคความดันเลือดสูง เบาหวาน ข้ออักเสบ/ข้อเสื่อม โรคถุงลมโป่งพอง/หลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และอัมพาตโดยคาดการณ์ว่า มากกว่า 60 %ของผู้สูงอายุวัยปลาย(อายุ 80 ปีขึ้นไป)เป็นโรคความดันเลือดสูงมากกว่า 10 %ของผู้สูงอายุวัยปลายเป็นโรคเบาหวาน และ35% ของผู้สูงอายุมีภาวะอ้วน
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. สนับสนุนแผนงานสร้างและจัดการความรู้เพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ดำเนินการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาเป็นแอพพลิเคชัน“ชราเฮโย”เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพในกลุ่มวัยแรงงาน อายุ 21 – 59 ปี เนื่องจากวัยแรงงานถือเป็นประชากรกลุ่มสำคัญที่มีจำนวนมาก และจะต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้น การสร้างความตระหนัก กระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อม สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการให้คำแนะนำส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น การออกกำลังกาย การมีกิจกรรมทางสังคม แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุโดยตรง แต่จะช่วยลดภาระในการดูแล และบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างมาก
ด้านพญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการการดูแลสุขภาพผ่านแอพพลิเคชัน “ชราเฮโย”ว่า เป็นเทคโนโลยีทันสมัยสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย มีเนื้อหาครอบคลุมพื้นฐานด้านสุขภาพ ทั้งกายและใจ โดยชี้ให้เห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมและเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในอนาคต
สำหรับภายในงานนี้มีการทดสอบสมรรถภาพกายเพื่อการออกกำลังกายที่เหมาะสม โดย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกิจกรรมทดสอบการเป็นผู้สูงอายุ โดย คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้สามารถดาว์นโหลดแอพพลิเคชัน“ชราเฮโย”ฟรีทั้งระบบแอนดรอยและIOS หรือติดตามข้อมูลสุขภาพผู้สูงวัยได้ในกลุ่มไลน์ “ยังแจ่ม”.-