‘เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป’ ยื่นไฟลิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

10

บมจ. เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป หรือ SAFE ผู้นำการให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรยากแบบครบวงจร ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 76,746,800 หุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ชูประสบการณ์กว่า 15 ปี โดดเด่นด้วย Clinical Success Rate มากกว่าร้อยละ 77 และความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในประเทศไทย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ก้าวสู่ผู้นำด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนในเอเชีย

นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรภายใต้ชื่อ “ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์” ดำเนินธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากแบบครบวงจรมากว่า 15 ปี ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนให้การรักษาแก่ผู้ที่มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อเติมเต็มความฝันในการมีบุตรแก่ทุกครอบครัว โดยมีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการรักษาผู้มีบุตรยาก และผู้ดูแลส่วนบุคคล (Personal Assistant) ที่มีประสบการณ์สูงสามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษา คอยดูแลช่วยเหลือและให้คำแนะนำตลอดกระบวนการอย่างอบอุ่นและใกล้ชิด

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากของไทยจะมีมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 14.6 ต่อปี บริษัทฯ ให้บริการแก่คนไข้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยในช่วงระหว่างปี 2561 จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีสถิติในการให้บริการเก็บไข่กว่า 6,897 รอบ (OPU Cycle) หรือเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งพันรอบต่อปี ด้วยความพร้อมในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิผลมาใช้ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการมีห้องปฏิบัติการด้านพันธุศาสตร์ที่สามารถให้บริการได้ครบวงจร จึงทำให้ในปี 2563 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 บริษัทฯ สามารถให้บริการโดยมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ (Clinical Pregnancy Success Rate) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ โดยมีอัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.5 เป็นร้อยละ 71.6 สำหรับกรณีไม่ได้ตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนและร้อยละ 63.5 เป็นร้อยละ 77.2 สำหรับกรณีเพิ่มบริการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน ซึ่งเป็นอัตราความสำเร็จที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากรายงานสรุปข้อมูลให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 15.3 – 41.7 ซึ่งจัดทำโดยระบบดูแลรักษาสุขภาพแห่งชาติ (สหราชอาณาจักร) กรมสนับสนุนบริการ

กลุ่มบริษัทฯ ได้ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI หรือการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง ซึ่งถือว่าเป็นที่นิยมแพร่หลายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และบริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI หรือการฉีดน้ำเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก รวมถึงการเลี้ยงตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ การแช่แข็งและการฝากไข่ อสุจิ และตัวอ่อน เพื่อโอกาสมีบุตรในอนาคต ด้วยทีมงานนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเลี้ยงและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี

โดยกลุ่มบริษัทฯ มีการนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่มาใช้เป็นที่แรกในเอเชีย การนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนด้วยเทคนิค IIumina (PGT-A) มาใช้แห่งแรกในประเทศไทย เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ (NIPT) และเทคโนโลยีฟื้นฟูรังไข่ Reju เป็นต้น จนได้รับความไว้วางใจจากคลินิกและโรงพยาบาลรักษาผู้มีบุตรยากในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น ให้ทำการตรวจ PGT และ NIPT ในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ด้วยมาตรฐานการรักษาระดับสูง กลุ่มบริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งที่สองในเอเชียจาก Reproductive Technology Accreditation Committee (“RTAC”) ประเทศออสเตรเลียในปี 2557 และได้รับการรับรองมาตรฐานการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ISO : 9001 ในปี 2554 รวมถึงมาตรฐานคุณภาพห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO 15189 ในปี 2559 และได้ผ่านการประเมินคุณภาพทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์โดยองค์กรภายนอกจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับ UK NEQAS จากประเทศอังกฤษ

และยังรวมถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดอบรมสัมมนาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งในและต่างประเทศ การเผยแพร่บทความทางวิชาการ ทำให้บริษัทฯ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมรักษาภาวะผู้มีบุตรยากทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีศูนย์การแพทย์เพื่อให้บริการผู้มีบุตรยากรวม 5 สาขา ได้แก่ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า สาขาขอนแก่น สาขารามอินทรา ภูเก็ต และศรีราชา โดยมีบริษัทย่อย รวม 2 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค จำกัด (NGG) ดำเนินธุรกิจด้านการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและทารกในครรภ์ และการให้บริการด้านห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ต่างๆ เช่น การตรวจคัดกรองโครโมโซมเพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรม การตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมในทารกจากเลือดแม่รวมถึงการเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมน ฯลฯ และ (2) บริษัท เซฟ เวลเนส จำกัด (SWC) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านผิวหนังและความงามภายใต้ชื่อ The Fountain Wellness Center

กลุ่มบริษัทมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการในปี 2563 – 2565 และงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เท่ากับ 525.48 ล้านบาท 559.73 ล้านบาท 726.61 ล้านบาท และ 187.83 ล้านบาทตามลำดับ จากรายได้ของบริษัทฯ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) รายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก 2) รายได้จากการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อนและทารกในครรภ์ และมีอัตรากำไรสุทธิที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 – 2565 และงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เท่ากับ 42.16 ล้านบาท 78.23 ล้านบาท 161.73 ล้านบาท และ 35.87 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 8.02 ร้อยละ 13.98 ร้อยละ 22.26 และร้อยละ 19.09 ของรายได้จากการให้บริการ

“บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนในเอเชีย มุ่งเน้นให้บริการด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่เข้ามารับบริการด้วยอัตราความสำเร็จเป็นเลิศ โดยเน้นถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นสำคัญ” นพ.วิวัฒน์ กล่าว

ดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 76,746,800 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ประกอบด้วย หุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 52,799,000 หุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 23,947,800 หุ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ มีทุนชำระแล้ว 303,947,800 บาท คิดเป็นจำนวน 303,947,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท จากทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 280,000,000 บาท โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ