ผู้หญิง 59% ถูกลวนลาม สงกรานต์เสื่อม

74

ผู้หญิง 59% ถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ เพียง 1 ใน 4ที่กล้าแจ้งความ จี้ กทม. เป็นต้นแบบจัดการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย หยุดคุกคามทางเพศ เกิดกลไกช่วยเหลือชัดเจนทันเหตุการณ์ เร่งบูรณาการ พม. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย กลุ่มเหยื่อผู้หญิงที่ถูกฉวยโอกาส ลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และภาคประชาชน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านทาง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการป้องกันแก้ปัญหาสงกรานต์ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ หยุดการฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ

นายจะเด็จ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำรวจผู้หญิง1,650 ราย อายุระหว่าง10-40ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ 59.3% เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ สำหรับรูปแบบพฤติกรรมการถูกลวนลาม คือ ถูกจับแก้ม 33.8% เบียดเสียด/จับมือ/จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม 18.0% ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะ/อื่นๆ9.6% ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่น ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา/บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ และที่สำคัญเมื่อถูกลวนลามคุกคามทางเพศ มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่เลือกจะแจ้งความดำเนินคดี สำหรับพื้นที่ยอดฮิตที่นิยมไปเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุด คือถนนข้าวสารและสีลม รองลงมาสยามและเซ็ลทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เล่นสงกรานต์ให้เหตุผลว่า เพราะเคยถูกแต๊ะอั๋งจึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม 28.10%

นายจะเด็จ กล่าวว่า จากผลสำรวจที่น่าห่วงนี้ บ่งบอกว่าปัญหาการฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่เราแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ทำเป็นมองไม่เห็น เป็นการส่งต่อพฤติกรรมค่านิยมที่ผิดๆ การไม่เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น และความคิดแบบชายเป็นใหญ่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้เราเห็นพฤติกรรมการจ้องลวนลาม คุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมไปถึงการกล่าวโทษเรื่องการแต่งตัวล่อแหลมเพียงอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นใบอนุญาตให้คุณคุกคามเขา และสะท้อนถึงปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ คือ มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบ เคารพเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำในกรุงเทพฯ ให้รับรู้ว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และขอให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย และภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันเป็นเครือขายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา โดยกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำทุกแห่ง 2.ขอให้ท่านในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. มีบทบาทในการเฝ้าระวัง กำกับและติดตามการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อาทิ ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ ควบคุมโฆษณา การดื่มและการขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และ 3.มูลนิธิและภาคีเครือข่ายฯยินดีร่วมมือสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำ การกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า และการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ด้านนางสาวปาลิณี ต่างสี แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาช่วงสงกรานต์หลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า หากจัดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดปัญหาที่ตามมาได้มาก ทั้งปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาทรวมถึงอุบัติเหตุ เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่จัดโดยไม่มีการควบคุมหรือพื้นที่ที่เอกชน จัดโดยผู้ประกอบการ หรือธุรกิจเหล้าเบียร์เป็นคนจัด ซึ่งมีการควบคุมเพียงแค่พิธีกรรม บางแห่งทำเหมือนจะมีการตรวจบัตรเข้มด้านหน้า แต่เมื่อเข้าไปดูภายในกลับพบเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปกินดื่มอยู่ในกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตจำนวนมาก
“สิ่งที่นิยมกันมากคือปาร์ตี้สงกรานต์กลางคืน มีคอนเสิร์ตกินดื่ม สุดท้ายเมื่อครองสติไม่ได้ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบ อุบัติเหตุ เจ็บตาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ตั้งด่านตรวจแค่ไหนก็เอาไม่อยู่หากไม่จัดการที่ต้นทางของปัญหา คือกิจกรรมอีเว้นต่างๆ ที่จำเป็นต้องควบคุมและไม่ปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ว่า กทม. เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงอยากเห็น กทม.มีมาตรการเชิงรุกของในเรื่องนี้” นางสาวปาลิณี กล่าว

ขณะที่ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า กทม.เตรียมพร้อมคุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำให้ปลอดภัยมาต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศและปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย และปีนี้เราเน้นสืบสานการแต่งกายประเพณีไทย และคงต้องเฝ้าระวังตามพื้นที่ยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ถนนข้าวสาร สีลม เอเชียทีค