แพลตฟอร์มเครื่องมือบำบัดจิต วิศวฯ มหิดล คว้ารางวัลเหรียญทองงานนักประดิษฐ์นานาชาติ

23

ผลงานนวัตกรรม ‘แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์’ (AI Phychological Open Platform) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ในโอกาสคว้ารางวัลเหรียญทอง จากงานนักประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ประจำปี 2566 (International Exhibition of Inventors Geneva 2023) ในเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 

ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี หัวหน้าทีมวิจัยและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะที่สังคมและเศรษฐกิจมีความซับซ้อนอ่อนไหวและผันผวน ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ประสบปัญหาและคนใกล้ตัว หลายหน่วยงานที่ให้บริการดูแลสุขภาพจิตทั้งภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานอิสระต่างก็ช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชน แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น จำนวนบุคคลากรไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายสูง ขาดเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของบริการ

ดังนั้น โดยทีมวิจัยคณะวิศวะมหิดล จึงได้ริเริ่มพัฒนา ‘แพลตฟอร์มกลางสำหรับการสร้างเครื่องมือบำบัดทางจิตวิทยาด้วยปัญญาประดิษฐ์’ (AI Psychological Intervention Open Platform) เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยให้บริการสุขภาพจิตของหน่วยงานต่างๆ สามารถมีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการดูแลสุขภาพจิตให้ก้าวหน้าทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นงานวิจัยนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลเฮลแคร์และเสริมสร้างความก้าวหน้าของวงการสุขภาพจิตในประเทศไทย ทั้งนี้โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปัจจุบันมีหน่วยงานสุขภาพจิตจำนวนกว่า 30 องค์กร ที่ได้ร่วมโครงการอบรมและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการดูแลสุขภาพจิต

ประโยชน์ของแพลตฟอร์ม ช่วยยกระดับงานบริการดูแลสุขภาพจิตของไทยให้ก้าวหน้า ช่วยให้บุคลากรของหน่วยงานดูแลสุขภาพจิตในประเทศไทยสามารถสร้าง ‘หุ่นยนต์โต้ตอบ (Chatbot)’ แบบอัตโนมัติได้ง่าย สามารถออกแบบพัฒนาแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อตอบโจทย์ประชาชนผู้รับบริการ ตรงวัตถุประสงค์ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน เป็น Open Platform ที่หน่วยงานหนึ่งสามารถแชร์แบบให้แก่หน่วยงานอื่นนำไปปรับใช้ประโยชน์ต่อได้ นอกจากนี้ยังมี ’ปัญญาประดิษฐ์ (AI)’ ที่ช่วยประเมินวิเคราะห์อารมณ์หรือปัญหาทางสุขภาพจิต

ผลงานนวัตกรรมนี้นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนและประชาชนคนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการบริการและได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ได้ทุกที่ทุกเวลา สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ในอนาคตยังเป็นฐานข้อมูล Big Data ด้านสุขภาพจิตของไทย ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ วางแผนหรือกำหนดแนวทางและนโยบายการพัฒนาสุขภาพจิตต่อไปอีกด้วย

การได้รับรางวัลเหรียญทอง จากงานนักประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ประจำปี 2566 (International Exhibition of Inventors Geneva 2023) ในเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำฝีมือของคนไทยในเวทีนานาชาติ