สค. เร่งสร้างความเข้าใจความเท่าเทียมระหว่างเพศ

54

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ 2/2561 โดยมี รศ.สุชีลา ตันชัยนันท์ เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ผู้แทนสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดร.ชเนตตี ทินนาม ผศ. เนตรนภา ขุมทอง นางสาวปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายภาคภูมิ สุกใส ดร.เสรี วงษ์มณฑา นางสาวอรุณี ศรีโต ตลอดจนผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย เป็นอนุกรรมการ และมี นางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสารองค์กร สค. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ดำเนินการประชุมดังกล่าว

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวาระเพื่อทราบเกี่ยวกับผลงานวิจัย เรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรความหลากหลายทางเพศในหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อทราบข้อเสนอแนะจากการประชุมการนำเสนองานวิจัย “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” ของธนาคารโลก อีกทั้งวาระเพื่อพิจารณา (ร่าง) ประเด็นความรู้ความเท่าเทียมระหว่างเพศในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ สืบเนื่องจากที่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้แก่ งานวิจัยของ ดร.ชีรา ทองกระจาย นักพัฒนาสังคมชำนาญการ กองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สค.กระทรวง พม. ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สค. ในการจัดทำ ผลงานวิจัย การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ : กรณีของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในหน่วยงานรัฐ เพื่อศึกษาระเบียบปฏิบัติ นโยบาย ทัศนคติ และสภาพการทำงานในหน่วยงานของรัฐที่มีเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด และศึกษาผลกระทบของระเบียบปฏิบัติ นโยบาย ทัศนคติ และสภาพการทำงานในหน่วยงานของรัฐที่มีต่อเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด

นอกจากนี้ยังได้ศึกษาแนวทางมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ ปัญหาความรุนแรง และการละเมิดสิทธิด้วยเหตุแห่งเพศในสถานที่ทำงาน ตลอดจนศึกษามาตรการในการส่งเสริมให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐเกิดความตระหนักรู้ และเข้าใจในการปฏิบัติและการให้บริการที่เป็นมิตรต่อผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการทดสอบแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ แต่ทั้งนี้ ในเบื้องต้น การวิจัยนี้ได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง 31 คน แล้ว โดยมีผลการวิจัยที่น่าสนใจ น่าติดตาม และเป็นประโยชน์อย่างมากที่ สค. จะนำมาต่อยอดในการดำเนินงานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป

และสุดท้าย นายเลิศปัญญา ได้ฝากคำถามถึงทุกท่านไว้ 3 ประเด็น ว่า “ท่านจะทำอย่างไรเมื่อท่านเป็นเพศชายไปสมัครงานแต่สถานประกอบการนั้นประกาศรับแต่เพศหญิง” หรือ “ท่านจะทำอย่างไรเมื่อท่านเป็นเพศหญิง ที่มีความสามารถสูงแต่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเพราะองค์กรสนับสนุนแต่เพศชาย” หรือ “ท่านจะทำอย่างไรเมื่อท่านถูกกีดกัน ไม่ให้เข้าไปใช้บริการในสถานบริการ เนื่องจากท่านเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ทุกคำถาม มีคำตอบใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558