อพท. ผนึก 5 มหาวิทยาลัย หนุนท่องเที่ยวชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสู่มาตรฐานสากล

27
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

อพท. จับมือ 5 สถาบันการศึกษา สานพลังพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หวังยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่สู่เกณฑ์มาตรฐานสากล GSTC UCCN และ CBT Thailand ชูจุดขายวิถีชีวิตและวัฒนธรรม หนุนศักยภาพ เมืองเก่าเกาะหมากปากประควนเคร็ง ขึ้นแท่นต้นแบบสายกรีน ส่วนสายมูชูเส้นทางเที่ยวชุมชนตามรอยหลวงพ่อทวด  ตั้งเป้าปี 2570 กระจายรายได้เพิ่ม 20% ในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัด

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ, รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทวัส ดิษยะศริน สัตยารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุดร นามเสน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมลงนาม ณ ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา จ.สงขลา เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการสร้างกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันวิชาการ องค์กรชุมชน และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567- พ.ศ. 2570)

วัตถุประสงของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ  สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) และกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) และกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันให้ครอบคลุมรายละเอียดตามใบสมัครของยูเนสโก รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนและกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันให้ครอบคลุมตามแนวทางมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand)

ภายใต้ความร่วมมือนี้ได้ตกลงขอบเขตการทำงานร่วมกัน โดย อพท. และ 5 มหาวิทยาลัย จะร่วมกันประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ศักยภาพของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ อปท. และชุมชนท้องถิ่นจัดให้มีการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและการวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ อพท. และมหาวิทยาลัย จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดแผนงานและโครงการตามแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ  ภายใต้งบประมาณที่แต่ละฝ่ายได้รับจัดสรรและภารกิจของหน่วยงาย โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร มาร่วมดำเนินงานในแต่ละโครงการ ที่อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือพื้นที่เป้าหมายของ อพท.  ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน

นอกจากนั้น ยังตกลงร่วมกันที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนรายละเอียดการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้บริบทและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย

สำหรับพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ใน 15 อำเภอของ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลารวม 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง และบางกล่ำ จังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน และควนขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร ปัจจุบันอยู่ในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี มีเป้าหมายยกระดับเมืองที่มีความพร้อมให้เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำไปสู่การเสนอเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories

นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก Green Destination Top 100 Stories แล้ว คือ เกาะหมาก จ.ตราด เมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย  ในเวียง จ.น่าน และเชียงคาน จ.เลย  สำหรับศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่มีความพร้อมในการผลักดันสู่มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยืน 100 แห่งของโลกได้ 4 แห่งแรก คือ ย่านเมืองเก่าสงขลา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง บ้านปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ ควนเคร็ง ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โดยคาดว่าจะส่งเสริมและผลักดันให้เข้าสู่มาตรฐานภายในปี 2567 และจะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาต่อไป

ทั้งนี้ เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด เช่น วัดต้นเลียบ วัดดีหลวง วัดพะโคะ ในจังหวัดสงขลา เป็นอีกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยจะให้ความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมของเจ้าบ้าน รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ Story Telling ในการเล่าเรื่อง  เพื่อตอบรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวสายมูทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปี หรือภายในปี 2570 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและการกระจายรายได้ในพื้นที่พิเศษ 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด เพิ่มขึ้น 20%