สสส.เร่งส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ แก้ปัญหาเมืองคุณภาพชีวิต

56

สสส. เสริมพลังภาคีเครือข่าย ชูกระบวนการมีส่วนร่วม แชร์ข้อมูลและองค์ความรู้ สร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะสีเขียวละแวกบ้านยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ป้องกัน NCDs พร้อมชวนภาคีเครือข่ายทำพื้นที่สุขภาวะแก้ปัญหาใหญ่ของเมืองทั้งระบบนิเวศ มลภาวะ น้ำท่วม แหล่งอาหาร ขับเคลื่อนไทยสู่สังคมสุขภาวะ ยกระดับคุณภาพเมือง คุณภาพชีวิต ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.และภาคีเครือข่ายเร่งพัฒนาขยายพื้นที่สุขภาวะหรือพื้นที่สาธารณะสีเขียวละแวกบ้าน หรือสวนที่แทรกอยู่ในเขตชุมชนที่เข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร สามารถเดินเท้าได้ภายใน 15 นาที ซึ่งได้รับการออกแบบ อย่างมีส่วนร่วม ทั้งเชิง กายภาพผสาน การสัญจรที่เข้าถึงสะดวก พื้นที่ปลอดภัย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสนับสนุนให้คนทุกเพศวัยสามารถเข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการมีกิจกรรมทางกายได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นสังคมสุขภาวะใน 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม

ทั้งนี้ มิติด้านกาย พื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านจะเป็นพื้นที่ประกอบการมีกิจกรรมทางกายและ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพื่อป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเฉพาะจุด เบาหวานประเภท 2 สุขภาพจิต (อาการวิตกกังวลและหดหู่ที่ลดลง) และการนอนหลับ ซึ่งโรคร้ายเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญการเสียชีวิตของ คนไทยถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด

มิติด้านจิตใจ พื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านจะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของคนเมืองด้วยการผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวลและซึมเศร้าจากการได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มิติด้านปัญญาและมิติด้านสังคมเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ดึงดูดผู้คนได้มาพบปะกัน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นสังคมที่มีความถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมกันแก้ปัญหาและรับผิดชอบพื้นที่ นอกจากนั้น การรวมตัวของผู้คนจะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการค้าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง เช่น การเป็นทางระบายน้ำ การรักษาคุณภาพอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้าน ของสสส.ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น พื้นที่สุขภาวะ “Healthy Rayong” จังหวัดระยอง พื้นที่สุขภาวะ “เพชรบุรีดีจัง” จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่สุขภาวะคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ตเมืองสุขภาวะ เป็นต้น นอกจากนั้นสสส.ยังพัฒนาองค์ประกอบพื้นที่สุขภาวะเชิงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาหลักสูตรนักพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่สุขภาวะชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ พื้นที่สุขภาวะสำหรับเยาวชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น

“ชุมชนไม่ใช่แค่คนที่อาศัยในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคเอกชนซึ่งทำธุรกิจในนั้น คอนโดมิเนียม วัด โรงเรียน หน่วยงานราชการ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกัน ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของสสส. ที่ มุ่งให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยสิ่งสำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในทุกๆ ขั้นตอน เนื่องจากเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นพื้นที่ต้องเกิดจากความต้องการจริง เพราะไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่ แต่เป็นการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ยศพล บุญสม คณะกรรมการเครือข่ายพื้นที่สุขภาวะ และผู้ร่วมก่อนตั้งโครงการ we! park กล่าวว่า ปัจจุบัน we! park ภายใต้การสนับสนุนของสสส. กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายต่างๆ มีแผนดำเนินงานพัฒนาสวนละแวกบ้านในเขตกรุงเทพฯ บนพื้นที่รกร้างแต่มีศักยภาพจำนวน 30 แห่ง และใช้เป็นโครงการต้นแบบนำร่องจำนวน 6 แห่ง เช่น หัวลำโพงรุกนิเวศน์ สวนป่าเอกมัย และสวนสานธารณะคลองสาน เป็นต้น โดยผ่านกระบวนการทดลองพัฒนาพื้นที่ต้นแบบที่เรียกว่าโครงการ Pop up park เพื่อให้ภาคีที่เกี่ยวข้องและชุมชนได้เห็นตัวอย่างความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์ก่อนการพัฒนาพื้นที่จริงตามศักยภาพความเหมาะสมซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่การพัฒนาได้ 6 ประเภท

คือ Community & Well-being หรือพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะแก่ คนในชุมชน, Mobility & Connectivity พื้นที่เชื่อมต่อเมืองเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน, Blue-green infrastructure พื้นที่วิถีชีวิตและธรรมชาติชุมชนริมน้ำ, Cultural and creative activity พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์จากส่วนร่วมของชุมชน, Urban Agriculture พื้นที่แปลงเกษตรสำหรับคนเมือง และ Biodiversity values หรือพื้นที่ความหลากหลายทางชีวะภาพของธรรมชาติในเมือง  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้าน นอกจากความจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเจ้าของพื้นที่แล้ว ยังต้องอาศัยการแบ่งปันทรัพยากร ข้อมูล องค์ความรู้และศักยภาพจากหลายๆภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะนอกจากจะช่วยเร่งกระบวนการให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และสำเร็จอย่างรวดเร็วแล้ว พื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ของเมืองได้อีกด้วย

เช่นการพัฒนาพื้นสุขภาวะเพื่อสร้างระบบนิเวศของเมือง การช่วยลดมลภาวะ การเป็นพื้นที่สำหรับรับน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง หรือพื้นที่สุขภาวะในเชิงเกษตรแหล่งอาหารปลอดภัยของคนเมือง เป็นต้น
“โครงการไม่ได้มองแค่การแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่สุขภาวะละแวกบ้านให้คนมาเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายเพื่อป้องกันโรค NCDs เท่านั้น แต่ยังต้องการลงทุนในภาพเล็ก เพื่อไปแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ของเมืองด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้คือทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันจากคุณภาพของเมืองและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ยศพล กล่าว