ททท. จัดพิธีพระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ครั้งที่ 14
ตอกย้ำยกระดับห่วงโซ่อุปทานสู่มาตรฐานความยั่งยืน
27 กันยายน 2566 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ Thailand Tourism Awards ครั้งที่ 14 แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 254 ราย พร้อมตอกย้ำเป้าหมายการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย Sustainable Tourism Goals : STGs สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) ด้วยสาขารางวัลใหม่ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร
อารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. จึงได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (Beyond Standard) ทั้งในด้านการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน (Safe and Sustainable Tourism)
รวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) ด้วยการต่อยอดขยายสาขารางวัลของโครงการรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือ รางวัลกินรี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่เศรษฐกิจของประเทศในทุกระดับอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ถือเป็นหัวใจสำคัญในการผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน Sustainable Tourism Goals : STGs มุ่งสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model โดยปีนี้ ททท. ได้เพิ่มประเภทรางวัลการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon & Sustainability) เพื่อตอกย้ำจุดยืนต่อความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
พร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) ซึ่งรางวัลดังกล่าว จะช่วยสร้างจุดเด่น เพิ่มมูลค่า และเพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างแข็งแรงและยั่งยืนต่อไป
สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 มีผู้ประกอบการส่งผลงานสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 908 ราย จาก 5 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย ประเภทแหล่งท่องเที่ยว ประเภทที่พักนักท่องเที่ยว ประเภทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเภทรายการนำเที่ยว และประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน และมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกชนะรางวัล รวมทั้งสิ้น 353 ราย
โดยแต่ละประเภทได้รับคัดสรรผลงานที่มีคุณภาพ แบ่งเป็น 3 สาขารางวัล ได้แก่ รางวัล Thailand Tourism Gold Award (ยอดเยี่ยม) Thailand Tourism Award (ดีเด่น) และเกียรติบัตรรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Certificate) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ รางวัลประเภท Thailand Tourism Gold Award (ยอดเยี่ยม) จำนวน 76 ราย รางวัล Thailand Tourism Silver Award (ดีเด่น) 169 ราย และ เกียรติบัตรรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย 99 ราย
ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล Thailand Tourism Gold Award ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง จะได้รับมอบรางวัล Hall of Fame โดยในปี 2566 นี้มีจำนวนรวม 9 ราย ได้แก่ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จ.เพชรบูรณ์, พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี จ.ลำปาง, สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น, อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง, ดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ต จ.กระบี่, โรงแรมเอซ ออฟ หัวหิน รีสอร์ท จ.เพชรบุรี, ศิรา สปา จ.เชียงใหม่, คามาลายา สปา จ.สุราษฎร์ธานี
พิธีพระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 จะมีการมอบรางวัลแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกชนะรางวัลในสาขารางวัล Thailand Tourism Gold Award (ยอดเยี่ยม) Thailand Tourism Award (ดีเด่น) และรางวัล Hall of Fame จำนวนทั้งสิ้น 254 ราย
ขณะที่ รางวัลสาขาใหม่ ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability)
มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ราย ประกอบด้วย รางวัลรางวัลยอดเยี่ยม จำนวน 5 ราย ได้แก่ ขิงแดง รีสอร์ท จ.กระบี่ สยามเบย์ชอร์ รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี คอลเล็คชั่น จ.เชียงราย พีชฮิลรีสอร์ท จ.ภูเก็ต และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตําบลบางกอบัว จ.สมุทรปราการ และรางวัลดีเด่น จำนวน 13 ราย
โดยสถานประกอบการดังกล่าวจะต้องมีนโยบาย มาตรการ ความคิดริเริ่ม ในการจัดการคาร์บอนต่ำ(Low Carbon) อย่างเป็นรูปธรรม ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความสมดุลสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2566 ได้ที่ www.tourismthailand.org/tourismawards หรือ facebook.com/thailandtourismawards