เคยได้ยินเมื่อนานมาแล้วว่า เด็กๆ ก่อนเข้าเรียนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลายอย่าง รวมทั้ง วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งเป็นชื่อโรคที่เด็กๆ เข้าใจไปเองว่า มันคืออาการป่วยที่มีทั้งการไอและการกรน ดูพิลึกพิลั่น ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
โรคไอกรนพบมากในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ติดมาจากผู้ใหญ่ ในช่วงแรกมีอาการเหมือนคนเป็นหวัด มีไข้ มีน้ำมูก และไอ แต่ระยะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคไอกรน หากไอแห้งๆ ติดกันราว 10 วัน ก็ให้สงสัยได้ เพราะเมื่ออาการเพิ่มมากขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 จะไอแบบถี่ๆ ติดกันเป็นชุด ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) เป็นเสียงการดูดลมหายใจเข้าจนเกิดเสียง ซึ่งผู้ป่วยจะหน้าแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก บ้างก็ไอไม่ทันจนหน้าเขียว ซึ่งในช่วงเวลานี้อาจทะให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างปอดอักเสบ เลือดออกที่เยื่อบุตา อาการชัก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรน ปี 2561 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 1-3 เดือน(ร้อยละ 25) โดยในปีนี้พบผู้ป่วยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ราย และรายล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 2 เดือน จังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2560) มีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน จำนวน 16-77 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในปีนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (วันที่ 8 – 14 เม.ย. 61) คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคไอกรนประปราย และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยไอกรนเพิ่มสูงขึ้น และจากข้อมูลการสอบสวนโรค พบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคไอกรนส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัวที่ไม่แสดงอาการป่วย
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน หรือไอแล้วมีเสียงวู้ป ให้รีบพาไปแพทย์ทันที สำหรับโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่มักพบในเด็กแรกเกิด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม ของบุคคลที่มีเชื้อโรคในร่างกายทั้งที่มีอาการป่วยหรือไม่แสดงอาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน ดังนั้นขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กำหนด (2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี) หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422