บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ประกาศย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความโปร่งใสทั่วโลก (Global Transparency) พร้อมให้ความร่วมมือผ่านทางศูนย์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัว (Cybersecurity and Privacy Protection Transparency Center) ตั้งอยู่ในเมืองต่งกวน สาธารณะประชาชนจีน
โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ร่วมกันสำหรับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน การติดต่อสื่อสาร และการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั่วโลก
ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าสู่ความอัจฉริยะและมีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โลกไซเบอร์ (Cyber Space) ก็ยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ธุรกิจและเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า เอไอ และ 5G ได้เข้ามาสร้างคุณค่ามหาศาลให้กับสังคม ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นก็ตาม โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการเจาะช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การสร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จึงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่เคย
เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำมาทั้งโอกาสและความท้าทาย อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ยังต้องอาศัยการสร้างความเชื่อใจและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงปลอดภัยและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
ซึ่งองค์กรก็จำเป็นต้องได้รับการแนะนำช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล รวมไปถึงการจัดทำมาตรการควบคุมความเสี่ยงให้มีการรับรองได้ว่าจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดได้ครบถ้วนทั้งข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงระบบและเครือข่ายจะต้องได้รับการปกป้อง ดังนั้นหัวใจของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัว จึงเป็นกระบวนการบริหารจัดการรายละเอียดให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีและแนวทางด้านความมั่นคงปลอดภัยระดับสากลนั่นเอง
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ย ได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 1,500 เครือข่าย และสนับสนุนองค์กรธุรกิจหลายล้านรายในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ขณะเดียวกันหัวเว่ยยังช่วยให้ผู้คนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกได้เชื่อมต่อถึงกัน โดยที่สามารถรักษามาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยได้ดีมาโดยตลอด ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หัวเว่ยมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวจะเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน
สุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ แรนซัมแวร์ การโจมตีแบบ DDoS แอปพลิชันที่แอบฝังมัลแวร์ ฟิชชิง การโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ การโจมตีช่องโหว่ในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมไปถึงการโจมตีผ่านอุปกรณ์ IoT ต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสของเราจึงมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์เหล่านี้ ควบคู่ไปกับการกำจัดข้อสงสัยด้านความมั่นคงปลอดภัยและยกระดับความไว้วางใจในแบรนด์หัวเว่ยในระดับโลก ที่หัวเว่ยเราเชื่อว่าความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คือความท้าทายที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์นี้เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและพันธมิตรในระดับโลก คือความตั้งใจของเราที่จะขยายความร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้าและองค์กรต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไปทั่วโลก” ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองต่งกวน ประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการ และศูนย์ตรวจสอบและบริการลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถนำอุปกรณ์ของตัวเองจากที่บริษัทมาตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยก่อนตัดสินใจซื้อได้ ศูนย์ฯ ดังกล่าว ยังเป็นที่ตั้งของ ‘ห้องปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอิสระ’ ซึ่งมี ‘แฮกเกอร์สายหมวกขาว’ (White Hackers) จำนวน 200-300 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ก่อนนำออกไปวางจำหน่ายและใช้งาน
นอกจากนี้ในบริเวณเดียวกัน ยังมีศูนย์วิจัยพัฒนา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘หมู่บ้านเขาวัว’ (Ox Horn Village) ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 12 กลุ่ม ซึ่งสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากแบบสถาปัตยกรรมชั้นนำในยุโรป โดยตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำซงซาน รองรับพนักงานกว่า 25,000 คน ซึ่งปัจจุบัน หัวเว่ยมีพนักงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวมทั้งสิ้นกว่า 3,800 คน ประจำอยู่ภายในศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสแห่งเมืองต่งกวน
หัวเว่ย ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี โซลูชัน และโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำของโลก พร้อมนำความเชี่ยวชาญส่งตรงจากประเทศจีนมาสนับสนุนพันธมิตรทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย
โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและลดปัญหาการขาดแคลนบุคลาการทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนจำนวนบุคลากรทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยและยังช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยทุกชิ้นที่นำเข้ามายังประเทศไทยมีการดำเนินการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) และทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด