สมาคมนักสะสมตราไปรษณีฯ จัดงาน “งานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566”

95

สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยฯ  ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัด งานแสดงตราไปรษณียากรโลก (THAILAND2023 World Stamp Championship Exhibition ) หรือ WSC ภายในงานมีการจัดแสดงตราไปรษณียากรจากทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ กว่า 500 ผลงานเข้าร่วม 

สุรจิตร ก้องวัฒนา ประธานที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรประเทศแห่งไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ส.ต.ท.) ในฐานะเป็นเจ้าภาพ และคณะกรรมการจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566เปิดเผยว่า การจัดงานเฉลิมฉลองวาระพิเศษ 140 ปีไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 นั้น เป็นการจัดงานระดับโลกของวงการสะสมตราไปรษณีย์อีกครั้งหนึ่ง ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2526 เป็นต้นมา  และสำหรับการจัดงานแสตมป์โลกในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก  ในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2566 ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

สำหรับงานแสดงตราไปรษณียากรโลกในครั้งนี้ จะมีผลงานที่เป็นคอลเลคชั่นประกวดตราไปรษณียากร จากหลายประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 60 ประเทศ กว่า 500 ผลงาน ประมาณ 2,500 เฟรม และมีนิทรรศการต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยมีไฮไลท์ เป็นแสตมป์ดวงที่แพงที่สุดในโลก มูลค่า 300 ล้านบาท ของบริสติส เกียอาน่า อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (British Guiana 1C Magenta) และดวงที่แพงที่สุดของทวีปเอเชีย มูลค่า 200 ล้านบาท แสตมป์มังกร พิมพ์กลับหัว (500 Mon Center Inverted) จากประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงให้ได้ชมกันเป็นที่แรก

สุรจิตร ก้องวัฒนา

นอกจากนี้ยังมีแม่พิมพ์ของแสตมป์ไทยชุดแรก ของสยามประเทศ “ชุดโสฬศ” ที่นำมาจากสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน นำมาจัดแสดง มีจัดแสดงสิ่งสะสมส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน รวมทั้งยังมีสิ่งแสดงเกียรติยศจากนักสะสมชื่อเสียงดังจากทั่วโลกอีกด้วย ถือเป็นงานแสดงที่ทรงคุณค่าและแทบจะหาดูจากที่อื่นไม่ได้

สมาคมฯ คาดหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นในภาคธุรกิจ MICE และ Creative Tourism การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ โดยตราไปรษณียากรหรือแสตมป์เป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ รวมทั้งเป็นงานอดิเรกที่ทรงคุณค่า ซึ่งตราไปรษณีกรของ ไทยได้รับการยอมรับจากนักสะสมทั่วโลก ทั้งในด้านของการออกแบบที่สวยงาม สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตขึ้นในกลุ่มของนักสะสมผ่านช่องทางการซื้อขาย และประมูล โดยนักสะสมแสตมป์จากทั่วโลกจะเข้าร่วมกิจกรรมกรรมการประมูล จากบริษัทผู้ดำเนินการประมูลรายใหญ่ๆ ของโลก ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากนักสะสมทั่วโลก ในการเสนอขาย และประมูลตราไปรษณียากรและสิ่งสะสมที่ทรงคุณค่าและหายาก อาทิเช่น Stanley Gibbons, David Feldman, Spink,  Stack’s & Bowers, เอื้อเสรี คอลเลคติ้ง, PMG, PCGS, NCS เป็นต้น

รวมทั้งมีการไปรษณีย์จากประเทศต่างๆ กว่าสิบประเทศ เข้าร่วมออกร้านจำหน่ายตราไปรษณียากรของสิ่งสะสมที่ระลึก พร้อมบริการประทับตราพิเศษ ที่ระลึกของงาน อาทิเช่น ไปรษณีย์ญึ่ปุน ฝรั่งเศส จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น และยังเป็นโอกาสที่นักสะสมแต่ละท่านได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน และซื้อขายระหว่างกัน สำหรับตราไปรษณียากรและสิ่งสะสมต่างๆ อีกด้วย

สุรจิตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมจัดนิทรรศการและการประกวด นำความรู้เรื่องราวเผยแพร่สู่สาธารณะชนเสมอมา นับจากการจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลกครั้งแรกในประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2526 และจัดต่อเนื่องกันมาในปีพ.ศ. 2536, 2546, 2556 และ 2561 และในปีนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือสสปน. (TCEB) ยังร่วมสนับสนุนในการจัดนิทรรศการและการประกวดตราไปรษณียากรโลกครั้งนี้ด้วย คาดว่าในช่วง 6 วันของการจัดงานฯ น่าจะมีชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 5 พันคน

พบกันได้ในงาน “140 ปีไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2556” มีกำหนดจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 นี้ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก