Klook ระดมทุนเพิ่มรอบใหม่สำเร็จ มูลค่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐ ก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

76

Klook แพลตฟอร์มชั้นนำระดับเอเชียผู้ให้บริการจองกิจกรรมและประสบการณ์การท่องเที่ยว ได้เปิดเผยว่าบริษัทได้บรรลุข้อตกลงด้านเงินลงทุนรอบล่าสุดด้วยมูลค่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยการระดมทุนในรอบนี้นำโดย Bessemer Venture Partners พร้อมกับการร่วมทุนจาก BPEA EQT กองทุนการลงทุนในเอเชีย Atinum Investment และ Golden Vision Capital, บริษัทลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ SMIC SG Holdings รวมถึงสถาบันการเงินไทยได้แก่ กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ  กสิกรแบงก์ Financial Conglomerate โดยการระดมทุนรอบนี้ยังรวมถึงบริการวิเทศธนกิจจาก Cit, J.P. Morgan และ HSBC เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเติบโตของบริษัท

ปี พ.ศ. 2566 นับเป็นปีที่หลายประเทศในแถบทวีปเอเชียมุ่งหน้าสู่การฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเชิงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของสายการบิน ถึงแม้ว่าในปีนี้จะเป็นช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่สำหรับ Klook แล้ว ปีนี้นับเป็นปีที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างงดงาม โดยการเติบโตในปีนี้สูงกว่าปี พ.ศ. 2562 ถึง 3 เท่า โดยมียอดการจองมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น Klook ยังประกาศว่า บริษัทสามารถสร้างผลกำไรได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย

อีธาน ลิน ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Klook ได้กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทีมงานทุกคนที่ช่วยกันสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับการท่องเที่ยวยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด“ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด พวกเราได้ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาและเสริมกำลังให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงเรายังได้ขยายประเภทของผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยว โดยได้เพิ่มบริการการจองรถ และเพิ่มกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งกิจกรรมและบริการการท่องเที่ยวที่เพิ่มเข้ามานั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้บริษัทสามารถตอบรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป และต่อยอดเทรนด์การเดินทางรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด” อีธาน ลิน กล่าว

โดยทิศทางของบริษัทหลังจากนี้ จะมุ่งเน้นที่การเพิ่มความแข็งแกร่งของแบรนด์ และให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ app-first เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ใช้งาน klook ผ่านแอปพลิเคชัน โดยในปัจจุบันพบว่ายอดการจองมากกว่า 80% เกิดขึ้นบนมือถือ นอกเหนือไปจากนั้น อีกหนึ่งความสำเร็จคือลูกค้าใหม่ในปี พ.ศ 2566 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ 2562 ในขณะที่ลูกค้าปัจจุบันก็มียอดการกลับมาใช้บริการซ้ำในอัตราสูง โดยยอดการจองซ้ำของลูกค้ามีมากกว่าครึ่งของจำนวนการจองทั้งหมด

“เราให้ความสำคัญกับการเสริมรากฐานความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางรายได้และกำไร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของรายได้ของธุรกิจต่อจำนวนพนักงานในองค์กร (revenue per headcount) ให้สูงขึ้น 3 เท่า นี่คือช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวเข้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียกำลังฟื้นตัวจากโควิด เราได้เห็นอีเว้นท์ระดับโลกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ Paris Olympics 2024 และ Osaka World Expo 2025 เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ร่วมกับการเห็นเทรนด์การเติบโตของการใช้จ่ายที่มากขึ้น และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเอเชียกำลังดำเนินไปในทิศทางบวก” อีธาน ลิน กล่าวเพิ่ม

มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกจะเติบโตสูงขึ้นถึง 15.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2576 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้นำในการเติบโตครั้งนี้ โดยมีอัตราการเจริญเติบโตประจำปี (CAGR) ที่ 11% (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2571) ซึ่งอัตราการเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้สูงเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับการเติบโตในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถูกคาดการณ์ว่าจะสามารถได้ส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดใหญ่จากการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งปัจจัยมาจากการขับเคลื่อนโดยกลุ่มชนชั้นกลาง, การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และเทรนด์ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างหลากหลาย โดย Klook จะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การการท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในกลุ่มลูกค้าเอเชีย และในขณะเดียวกันก็พร้อมนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีที่สุดของเอเชียให้กับนักท่องเที่ยวต่างภูมิภาคที่เดินทางเข้ามา

“เราคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำหรับการท่องเที่ยวยุคใหม่ เราพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี และมีความกระตือรือร้นที่จะค้นหาและทดลองกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลาย จุดมุ่งหมายของเราคือการทำให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจโลกได้อย่างง่ายดายผ่าน Klook แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวสู่จุดหมายปลายทาง สู่ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ลึกซึ้ง และสู่การเดินทางที่สะดวกสบาย” เอริค น็อก ฟาห์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง Klook กล่าว

ทั้งนี้ Klook จะดำเนินการจัดสรรเงินทุนที่ระดมได้ในรอบล่าสุดนี้ไปใน 3 แนวทาง แนวทางแรกได้แก่ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ โดยจะพัฒนาและออกแบบ City Pass ให้ครอบคลุมความต้องการของนักท่องเที่ยวและทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกและประหยัดมากขึ้น แนวทางที่สองคือ ยกระดับโซเชียลและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งผ่านโปรแกรม Klook Kreator เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหาจากผู้ใช้งานจริง แนวทางที่สามคือ นำนวัตกรรมเกี่ยวกับ AI มาใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ AI นำมาใช้บนแพลตฟอร์ม ตั้งแต่การแปลอัตโนมัติ, การสร้างคอนเทนต์, การให้บริการลูกค้าผ่าน chatbot นอกจากนั้นบริษัทยังวางแผนที่จะร่วมมือกับนักลงทุนใหม่ในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและส่งเสริมให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าที่การเจาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้