รัฐสภารับรองประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคม สภาประชาชนแห่งชาติจีน

33

ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาสังคม สภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง Hon. Mr. Yang Zhenwu ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม สภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทยและสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยมีนายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย – จีน

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต้อนรับด้วยความความยินดี และฝากแสดงความยินดีไปยังนายจ้าว เล่อจี้ ในโอกาสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีนคนใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 พร้อมกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย – จีน เปรียบเสมือนพี่น้องกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามารถตรัสและเขียนภาษาจีนได้ และเสด็จฯ เยือนจีนแล้ว 50 ครั้ง ผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อครั้งที่ตนเดินทางไปเยือนจีนเมื่อปี 2541 ทางการจีนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้นำจีน และในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ไทยยังให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จึงได้ยกเว้นการตรวจ ลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมกล่าวเชิญประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

Hon. Yang Zhenwu ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม สภาประชาชนแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ไทยเป็นเพื่อนที่ดี เพื่อนบ้านที่ดี และหุ้นส่วนที่ดีของจีน เมื่อครั้งที่เป็นเลขาธิการสภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้พยายามสนับสนุนให้นายลี่ จ้านซู ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 13 เดินทางมาเยือนไทย แต่ประสบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 จึงไม่สามารถเดินทางมาเยือนไทยได้ อย่างไรก็ตาม นายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีน ได้ฝากความระลึกถึงมา ณ โอกาสนี้

ในเดือนตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum) ครั้งที่ 3 ด้วย ทั้งนี้ การเดินทางมาเยือนไทยของคณะกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือตามโครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) ความร่วมมืออาเซียน – จีน ความร่วมมือล้านช้างแม่โขง และยกระดับความสัมพันธ์ไทย – จีน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงการส่งครูชาวจีนมาสอนภาษาจีนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น