สสส.- สคอ.สานพลังภาคีเครือข่าย ลดเจ็บ-ตายช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2567

81

สสส.- สคอ.สานพลังภาคีเครือข่าย ลดเจ็บ-ตายช่วงเทศกาล “ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ ปีใหม่ 2567” ชี้อุบัติเหตุมากกว่า 50% พบแอลกอฮอล์ในเลือด “หมอประชา” เผยเหล้าส่งผลต่อสมองเสี่ยงอุบัติเหตุสูง พร้อมขยายชุมชนขับขี่ปลอดภัย 189 อปท.ทั่วประเทศ ร่วมตรวจเข้มแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลผลการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดของกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน พบว่า มากกว่า 50% พบแอลกอฮอล์ในเลือด ดื่มไม่ขับ และลดใช้ความเร็ว เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ เพื่อฉลองปีใหม่นี้อย่างปลอดภัย และมีความสุข สสส. ได้ผลิตสปอตโฆษณา 2 เรื่อง รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงอันตราย ลด ละ เลิกพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ประมาท ให้เห็นผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อการขับขี่ที่ผลกระทบต่อสมอง และส่งผลต่อการขับขี่ จึงได้พัฒนาแคมเปญ ดื่มไม่ขับ : ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง สื่อสารผลเสียของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมอง ทำให้ตอบสนองช้าลง ตัดสินใจเบรกรถไม่ทัน และกะระยะในการขับขี่ผิดพลาด

“สสส. ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยทางถนน พัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะ รณรงค์ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเข้มข้นใน 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับร่วม 100 เครือข่าย ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์ในพื้นที่ หนุนเสริมตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ทุกรายที่ประสบอุบัติเหตุ และไม่สนับสนุนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มข้นช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่ หรือพื้นที่อำเภอเสี่ยง และพื้นที่ท่องเที่ยวเน้นมาตรการดูแลเรื่อง ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

วิทยา จันทร์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สถิติอุบัติทางถนนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานว่า ปีใหม่ 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2564 – 4 ม.ค. 2566 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับเร็ว 37.5% ดื่มแล้วขับ 25.49% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ 82.11% รถกระบะ 5.56% รถเก๋ง 3.24% ศปถ. ได้มีแนวทางดำเนินการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนน โดยกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” บูรณาการร่วมขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยใช้แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 เป็นกรอบดำเนินงาน

พร้อมยกระดับพื้นที่ใช้กลไก ศปถ.จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นมาตรการชุมชน มาตรการทางสังคม อาทิ เคาะประตูบ้าน ด่านชุมชน ด่านครอบครัว ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง และให้จังหวัดร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ให้มีความตระหนัก สร้างจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกันก็ให้ทุกภาคส่วนบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน และ เสริมสร้าง ปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ และจิตสำนึกอย่างจริงจัง เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัย

นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ “หมอประชาผ่าตัดสมอง” ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง รพ.เชียงใหม่ ราม กล่าวว่า 84% ของประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สูญเสียความสามารถการตัดสินใจ ความมีเหตุผล การควบคุมการเคลื่อนไหว สูญเสียความสามารถการรับรู้ มองเห็น ได้ยิน และความจำ ยิ่งดื่มยิ่งส่งผลต่อสมอง และเสี่ยงอุบัติเหตุสูง ทั้งนี้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 0.01-0.05% ทำให้เริ่มตื่นตัว 0.03 – 0.12% โดพามีน (Dopamine) เริ่มหลั่งจะรู้สึกสดชื่น มีความมั่นใจ รู้สึก Relax สดใส 0.08 – 0.25% เริ่มกดสมองส่วนต่างๆ

” เช่น กดสมองส่วนหน้าเกิดการยั้งคิด กดสมองส่วนทรงตัวทำให้ทรงตัวไม่ได้ กดสมองส่วนที่แปลประสาทตาทำให้ตาเบลอ กดสมองส่วนที่ใช้พูดก็จะพูดช้า กดสมองส่วนที่ทำให้ตัดสินใจส่งผลให้ให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายดาย 0.18 – 0.30% สับสน ความจำเริ่มเสื่อมลง มากกว่า 0.25% จะเริ่มซึมเริ่มหลับ มากกว่า 0.35% ก็ทำให้โคม่า และมากกว่า 0.45%ทำให้เสียชีวิตได้” นพ.ประชา กล่าว

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ปีใหม่นี้ทาง สคอ. ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนักแก่ประชาชนผู้ขับขี่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเทศกาล และช่วงเทศกาล โดยผลิตสื่อฯ และชุดข้อมูลการเฝ้าระวังป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนนสนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นกรอบ และแนวทางทำงานในพื้นที่ตามนโยบายศปถ. อีกทั้งเทศกาลปีใหม่นี้ได้วางแผนลงพื้นที่ติดตามกรณีอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดช่วงเทศกาลปีใหม่

โดยใช้ข้อมูลจาก ศปถ. ที่รายงานการเกิดอุบัติเหตุรายวัน จัดทำเป็นคลิปวิดีโอสะท้อนผลกระทบ ปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนวทางแก้ไขขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในอนาคต สิ่งที่น่ากังวล คือ ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น จากการอนุญาตให้เปิดสถานบริการได้ถึงตี 4 ขอให้ผู้เกี่ยวข้องยึดมั่นในเงื่อนไขตามกฎกระทรวงมหาดไทย และนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามขายคนอายุต่ำกว่า 20 ปี – คนเมา ตรวจแอลกอฮอล์คนขับก่อนกลับ หากเกิน 50 mg% จัดที่พักคอย หากไม่รอให้ติดต่อเพื่อนหรือ ญาติพากลับ หรือจัดหารถส่งลูกค้า จะช่วยลดผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้