Van Cleef & Arpels: Time, Nature, Love ความเกริกไกรในอาณาจักรแห่งเมซง

57
Izmir necklace. White gold, yellow gold, rose gold, one cushion-cut yellow sapphire of 50.75 carats (Sri Lanka), amethyst, spessartite garnets, blue spinel, mauve and pink spinels, citrines, pink tourmalines, fire opals, diamonds.

นิทรรศการ Van Cleef & Arpels: Time, Nature, Love ซึ่งจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สถาน D Museum ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2023 จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2024 นี้ เป็นการแสดงความเกริกไกรในอาณาจักรแห่งเมซงผู้สร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูงผ่านการรวบรวมผลงานเครื่องประดับอัญมณี, นาฬิกาข้อมือ และศิลปวัตถุล้ำค่ากว่า 300 ชิ้น ซึ่งมีการสรรค์สร้างขึ้นนับแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1906 อีกทั้งยังรวมถึงงานต้นแบบกว่า 90 ชิ้นจากแผนกจัดเก็บเอกสาร และหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซง

ในโอกาสสำคัญอันหาได้ยากยิ่งครั้งนี้ บรรดาเอกสารสำคัญตลอดจนภาพวาดลายเส้นร่างแบบ และภาพลงสีกูยาชระบุรายละเอียดทางการขึ้นแบบ อันล้วนถือเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการสร้างสรรค์ ต่างถูกรวบรวมมาจัดแสดงเคียงข้างกับเหล่าผลงานล้ำค่าจากคอลเลกชันส่วนตัวของ Van Cleef & Arpels เช่นเดียวกับเหล่าชิ้นงานซึ่งหยิบยืมมาจากคอลเลกชันส่วนตัวของบุคคล หรือสถาบันต่างๆ

จากการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันของภัณฑารักษ์สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งก็คือ ‘อัลบา กัปปาเลียริ’ (Alba Cappellieri) นักวิชาการสัญชาติอิตาเลียน อีกทั้งยังเป็นนักเขียน และผู้อำนวยการฝ่ายประจำแผนกเครื่องประดับแฟชัน และอัญมณี Jewelry & Fashion Accessories ของวิทยาลัยสารพัดช่างแห่งกรุงมิลาน (Politecnico di Milano)

นาฬิกาตั้งโต๊ะปีค.ศ. 1928
แพลทินัม, พลอยน้ำสมุทรลาพิซลาซูลิ, นิลกาฬออนิกซ์,
หินคริสตัล, งานลงยา, เพชร

ผลงานทั้งหลายซึ่งถูกนำมาจัดแสดงครั้งนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ประกอบไปด้วย “กาลเวลา” (Time), “ธรรมชาติ” (Nature) และ “ความรัก” (Love) เพราะศิลปะแห่งเครื่องประดับอัญมณีมีความเกี่ยวพันซับซ้อนกับช่วงเวลาของแต่ละยุคสมัย โดยอาศัยการจัดสัดส่วนอันได้สมดุลระหว่างบทบรรจบของกระแสยุคสมัย ซึ่งจะผันผ่านไปอย่างรวดเร็วตามกาลเวลา กับการเป็นวัตถุให้จับต้อง ซึ่งจะคงอยู่เป็นการถาวร เช่นเดียวกับกระบวนการผลิต ที่ดำเนินขึ้นตามแบบแผน หรือขนบธรรมเนียมดั้งเดิมกับคุณค่าของการเป็นผลงานสะท้อนถึง “แฟชัน” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกระแสสมัยนิยม

สร้อยคอปีค.ศ. 1974
ตัวเรือนทองคำเฉดเหลืองรองรับงานฝังมรกต, นิลกาศ และเพชร
Van Cleef & Arpels Collection
สร้อยแผงคอ (Collaret) ปีค.ศ. 1939 ตัวเรือนแพลทินัมฝังเพชร เคยอยู่ในคอลเลกชันเครื่องประดับส่วนพระองค์ของสมเด็นพระราชินีนาซลีแห่งอียิปต์

นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นบทสรุปความสามารถอันเป็นเลิศของ Van Cleef & Arpels ในการนำเศษเสี้ยวแห่งความเป็นศตวรรษที่ 20 แง่มุมต่างๆ จากแต่ละยุคมาร้อยเรียงอย่างต่อเนื่องพร้อมกันในคราวเดียวเพื่อถ่ายทอดค่านิยมแห่งความงามอันอยู่เหนือกระแสสมัยนิยม และยังแสดงถึงพลังทางการสร้างสรรค์ที่จะจุดประกายความรู้สึก ปลุกจินตนาการขึ้นในใจของผู้พบเห็น

Livre VCA Horlogerie 2008

ด้วยแรงบันดาลใจจาก “ประมวลหกหมายเหตุของสหัสวรรษต่อไป” หรือ Six Memos for the Next Millennium ผลงานของนักเขียนอิตาโล กัลวิโน (นักเขียน และนักข่าวหนังสือพิมพ์ชื่อดังผู้มีอายุอยู่ระหว่างปีค.ศ. 1923-1985) อัลบา กัปปาเลียริได้เลือกแนวคิดหลักทางบริบทงานเขียนชิ้นนี้มาใช้ตีความการสรรค์สร้างผลงานต่างๆ ของเมซง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นว่าด้วยความสอดคล้อง หรือความเกี่ยวพันกับช่วงเวลาของแต่ละยุคสมัย

ดังนั้นการจัดแสดงลำดับแรกอันได้แก่ Time หรือ “กาลเวลา” จะครองพื้นที่การจัดแสดงถึงสิบห้องเพื่อเป็นเล่าเรื่องราวแง่มุมต่างๆ อันถือเป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของช่วงเวลาตามยุคสมัย

กำไลข้อมือแถบลูกไม้รัดขา “Jarretière” (ฌารเรอติแอร) ปีค.ศ. 1937
ตัวเรือนแพลทินัมฝังทับทิมขึ้นลายในกรอบเพชร
เคยเป็นเครื่องประดับในคอลเลกชันส่วนตัวของมาร์เลน ไดทริช
สร้อยคอสายซิปปีค.ศ. 1951
สามารถดัดแปลงไปเป็นกำไลข้อมือได้
ตัวเรือนทองคำเฉดเหลืองประกอบทองคำสีกุหลาบแต่งรายละเอียดด้วยเพชรและทับทิม

โดยที่ปฐมบทของผลงานกลุ่มนี้ จะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับมหานครปารีสภายใต้ชื่อหัวข้อ Paris และตามมาด้วย Elsewhere หรือ “อารยศิลป์ต่างถิ่น” ก่อนจะเป็นห้าค่านิยมสำคัญตามแนวทางของกัลวิโน นั่นก็คือLightness อันหมายถึง “ความเบา”, Quickness คือ “ความเร็ว”, Visibility คือ “ความชัดเจน”, Exactitude หมายถึง “ความแม่นยำ” และ Multiplicity ซึ่งก็คือ “ความหลากหลาย” ส่วนห้องถัดๆ ไปคือการแสดงผลงานอันเป็นจุดบรรจบทางความคิด หรือแรงบันดาลใจที่เรียกว่า Intersections นั่นก็คือการสรรค์สร้างผลงานซึ่งเชื่อมโยงถึงศิลปะแขนงอื่นๆ อย่างแฟชัน หรือศิลปะทางการตัดเย็บ, ศิลปะนาฏกรรม และสถาปัตยกรรม

เข็มกลัดปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise clip) ปีค.ศ. 1942
ตัวเรือนทองคำเฉดเหลืองประกอบแพลทินัม, ทับทิม,ไพลิน, เพชร

จากนั้น ผลงานส่วนที่สองของนิทรรศการก็คือการยกย่องธรรมชาติหรือ Nature อันประกอบไปด้วยผลงานกลุ่ม “สัตวชาติ” (Fauna), “รุกขชาติ” (Botany) และ “พฤกษชาติ” (Flora) ท้ายที่สุด ในห้องจัดแสดงผลงานซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจจากความรักหรือ Love ก็จะสะกดอารมณ์ของผู้เข้าชมไปกับสัญลักษณ์ และของขวัญสื่อรัก อันล้วนเป็นบทสรุปอำนาจแห่งหลากอารมณ์ ในขณะเดียวกัน บางชิ้นก็เป็นตัวแทนตำนานรักสุดโรแมนติกแห่งศตวรรษที่ 20

เข็มกลัดโรมิโอกับจูเลียตประมาณปีค.ศ. 1951
ทองคำเฉดเหลืองประดับงานมรกต, ทับทิม, ไพลิน และไข่มุกเลี้ยง

ผลงานหายากที่ผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันเหล่านี้ ถูกนำมาจัดวางท่ามกลางภาพมิตินิทรรศการอันชวนให้ดื่มด่ำประทับใจจากฝีมือของศิลปิน-นักออกแบบสากลโยฮานนา กราวุนเดอร์ (Johanna Grawunder) ผู้ใช้แสงสีจากหลอดไฟนีออนสร้างบรรยากาศลึกลับสุดวิจิตรบรรจงบนพื้นที่จัดงาน รวมถึง “ประติมากรรมโปร่งใสไร้ตัวตน” ในห้องจัดแสดงผลงานกลุ่ม “ความรัก” หรือ Love พร้อมกันนั้น ไมกาล บาตอรี นักออกแบบกราฟิกยังมาร่วมประดิษฐ์ตัวอักษรเฉพาะกาล และวิดิทัศน์พิเศษสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งสองได้ร่วมกันยกย่องสไตล์อันอยู่เหนือกระแสความนิยมทางยุคสมัยของเมซงให้ปรากฏอย่างชัดเจน

นิทรรศการ “กาลเวลา, ธรรมชาติ และความรัก” หรือ Time, Nature, Love คือการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ค้นพบ ทำความรู้จัก และเข้าใจต่อมุมมองสุนทรีย์ในผลงานต่างๆ ซึ่ง Van Cleef & Arpels อาศัยทักษะความชำนาญทางหัตถศิลป์งานฝีมือในการหลอมรวมองค์ประกอบต่างๆ ให้กลมกลืนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนควรค่าต่อการเป็น “ศิลปะ” อย่างแท้จริง

สร้อยคอ “อิซเมียร์” (Izmir necklace)

ตัวเรือนทองคำขาวประกอบทองคำเฉดเหลือง และทองคำสีกุหลาบ รองรับงานประดับไพลินสีเหลือง, พลอยดอกตะแบก แอเมทิสต์, บุษย์น้ำทองซิทริน, โอปอล, โกเมนสีส้มสเปซซาไทท์, ทุรมาลีสีชมพู, พลอยสปีเนลหลากสี และเพชร

สร้อยคออิซเมียร์เป็นส่วนหนึ่งในคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูง “ตำนานลีลาศ” หรือ Bals de Légende (บาลส์ เดอ เลชองด์) ของปีค.ศ. 2011 ซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากงานลีลาศครั้งสำคัญทั้งห้าระหว่างศตวรรษที่ 20 สำหรับผลงานชิ้นนี้คือบทอ้างอิงถึง “บูรพาลีลาศ” หรือ Oriental ชื่องานราตรีสังสรรค์ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมลองแบรต์ กรุงปารีสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1969

โดยบารอนอเล็กซีส์ เดอ  เรเด (มีชีวิตอยู่ระหว่างค.ศ. 1922-2004) สุภาพบุรุษคนดังแห่งวงสังคมชั้นสูงยุคนั้น ความหรูหราจนเป็นที่เลื่องลือระดับตำนานของงานราตรีลีลาศครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศตกแต่งสถานที่จำลองแบบมาจากโรงมหรสพอันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “พันหนึ่งราตรี” (One Thousand and One Nights) นิยายรวมนิทานก่อนนอนชื่อดังแห่งตะวันออกกลาง ร่วมกันจินตนาการถึงมหานครอิซเมียร์ เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยปราสาทราชวังมากมาย อันล้วนมีประวัติยาวนานมาจากครั้งจักรวรรดิอ็อตโตมาน

โครงสร้างตอนบนของวงตัวเรือนอาศัยงานทองคำขาวฝังเพชรจำลองแบบทิวทัศน์หมู่อาคารราชวังแห่งอิซเมียร์ โดยใช้รัตนชาติหลากเฉดโทนอบอุ่นอาทิพลอยดอกตะแบกแอเมทิสต์, โกเมน, บุษย์น้ำทองซิทริน, ทุรมาลีสีชมพู และพลอยสปีเนลหลากสีเจียระไนทรงหัวหอมรองรับงานสลักลายตามแบบยอดโดม อันถือเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง และทวีความโดดเด่นยิ่งด้วยโครงสร้างตอนล่างของวงตัวเรือนประกอบงานร้อยลูกปัดโกเมนเรียงแถวลดหลั่นตามลำดับความยาวเคียงขนานมาสู่จุดรวมสายตา และสะกดอารมณ์ของไพลินสีเหลืองขนาด 50.79 กะรัตตรงศูนย์กลาง