ZPOT เปิดตัว Zoo e-ticket เอาใจผู้ชมยุคดิจิทัล ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ ที่ “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว”  

108

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดระบบ ยกระดับการเข้าชมสวนสัตว์ด้วย Zoo e-ticket ตอบโจทย์ท่องเที่ยววิถีใหม่ ตามค่านิยมองค์กร “Zoogether” ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ 2567 คาดเปิดใช้บริการในสวนสัตว์ทั้ง 6 แห่งได้ภายใน Q2 ของปี ชี้ก้าวแห่งการพัฒนารอบด้าน หนุน Big Data ปั้นแคมเปญตรงกลุ่มเป้าหมาย เผยโครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ เสริมแกร่ง Amazing Thailand  ขึ้นแท่นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวของไทย ก้าวสู่ผู้นำอาเซียน  

มณเฑียร  อินทร์น้อย กรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ชัยเกียรติ ห่านสัมฤทธิ์ อนุกรรมการพัฒนาธุรกิจ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มลซญา จันทรนิยม อนุกรรมการพัฒนาธุรกิจ สมรักษ์ บุษปธำรง รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย รวมถึงคณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และนณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ร่วมเปิดระบบบริหารจัดการการจำหน่ายบัตรเข้าชมกิจการสวนสัตว์ (Zoo e-Ticket) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) หรือ ZPOT  เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการการจำหน่ายบัตรเข้าชมกิจการสวนสัตว์ (Zoo e-Ticket) เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมโลกและสังคมไทยในยุคดิจิทัล ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ให้เข้าถึงบริการจากสวนสัตว์ ทั้ง 6 แห่ง

ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น โดยร่วมกับ บริษัท แอดเพย์ เซอร์วิสพอยท์ จำกัด และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรเข้าชมสวนสัตว์ ในรูปแบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Zoo e-Ticket) ดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการการจำหน่ายบัตรเข้าชมกิจกรสวนสัตว์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoo e-Ticket) ทั้งระบบการจำหน่ายบัตรแบบออนไลน์ (On Line) และระบบการจำหน่ายบัตร ณ จุดขาย (On Site) ที่มีกลไกการเชื่อมโยงสารสนเทศครอบคลุมสวนสัตว์ในสังกัดทุกแห่ง และสามารถรองรับการจำหน่ายบัตรประเภทอื่น /สินค้า/บริการต่างๆ ที่องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยจะดำเนินการ

ในอนาคตให้สามารถทำธุรกิจ/ขายสินค้าที่ระลึกได้ตลอดเวลา 365 วัน 24 ชั่วโมง พัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการการจำหน่ายบัตรเข้าชมกิจการสวนสัตว์ด้วยแพลตฟอร์มWeb Application & Mobile Application ที่มีประสิทธิภาพสูง  ให้บริการทั้งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายที่ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการ รวมถึงการเป็นสังคมไร้เงินสดด้วยบริการทางเลือกในการชำระค่าซื้อสินค้าหรือบริการผ่านInternet Banking/ e-wallet/ Credit Card/ Debit Card/ Bill Payment/ Prompt Pay เป็นต้น

รวมถึงการให้บริการด้านการตลาดอื่นๆ จากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อก้าวให้ทันตลาดการท่องเที่ยวและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมโลกและสังคมไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เข้ามาเรียนรู้ภายในสวนสัตว์ และปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกได้อย่างรวดเร็ว และทันสมัย โดยเริ่มต้นให้บริการที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เป็นแห่งแรก

มณเฑียร  อินทร์น้อย กรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจำหน่ายบัตรเข้าชมกิจการสวนสัตว์ (Zoo e-Ticket)  จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้าชม อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการสวนสัตว์ได้ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้ Big Data ในการวิเคราะห์และออกแบบแคมเปญหรือกิจกรรมที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย  ขณะเดียวกัน ยังมุ่งพัฒนาในด้านอื่น ๆ ภายในสวนสัตว์ เพื่อยกระดับการบริการจัดการที่มีคุณภาพ อาทิ การดูแลมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้หลังจากเปิดให้บริการ Zoo e-Ticket ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวแล้ว คาดว่าสวนสัตว์ในความดูแลของ ZPOT อีก 5 แห่งจะเปิดให้บริการในระบบนี้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

สำหรับโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีระยะเวลาการดำเนินงานตามแผนงาน 4 ปี ปัจจุบันได้เริ่มต้นในปีที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงของการปรับปรุงพื้นที่ดินให้มีความพร้อมในสำหรับการก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป โดยสวนสัตว์แห่งใหม่นี้ จะเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ย้ำภาพ Amazing Thailand ขึ้นแท่นผู้นำด้านการจัดการสวนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดและมีระบบการจัดการที่ดีที่สุดในอาเซียน

ณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กล่าวว่า ในปี 2566 มีผู้เข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวประมาณ 9 แสนคน และในปีนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 1 ล้านคน โดย Zoo e-Ticket จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยยกระดับการบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเป็นส่วนหนึ่งในช่องทางศึกษาพฤติกรรมของผู้เข้าชม เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงสวนสัตว์ที่มีคุณภาพทั้งต่อตัวผู้เข้าชมและสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน