‘CITE  DPU’  พัฒนาระบบ AI & IoT แจ้งเตือนช่วยเด็กติดในรถ

56

‘CITE  DPU’  พัฒนาคิดค้นระบบ AI & IoT ตรวจจับและแจ้งเตือนช่วยเด็กติดในรถ หลังพบสถิติมีเด็กติดในรถรับ-ส่งนักเรียน รถตู้โรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ระบุติดในรถ 30 นาทีเด็กจะเกิดภาวะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ พร้อมเผย 3 หลักการทำงาน ส่งข้อความและภาพผ่าน Line ไปยังคนขับรถ และผู้ปกครอง ไซเรนดัง และกระจกประตูรถฝั่งคนขับเลื่อนลง หวังสร้างความมั่นใจ ไว้วางใจแก่ผู้ปกครองส่งลูกไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย

ผศ.อรดี พฤติศรัณยนนท์ รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่าในทุก ๆ ปี จะเห็นข่าวการเสียชีวิตของเด็กจากการติดอยู่ในรถ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้โรงเรียน หรือรถยนต์ส่วนตัว โดยสถิติเด็กติดในรถรับ-ส่งนักเรียน ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดเหตุการณ์ 130 ครั้ง มีเด็กเสียชีวิต 7 ราย เป็นเพศหญิง 4 ราย และเพศชาย 3 ราย มีอายุระหว่าง 2-7 ปี ซึ่งถูกลืมทิ้งไว้ในรถที่จอดไว้หลังจากรับส่งนักเรียนแล้วเสร็จ นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยเด็กอาจนอนหลับอยู่ในรถ

“ด้วยภาระหน้าที่ของพ่อแม่ในปัจจุบัน ทำให้หลายคนไม่สามารถส่งลูกไปโรงเรียนได้ด้วยตนเอง ต้องใช้บริการรถโรงเรียน หรือรถรับ-ส่งนักเรียน และอาจารย์ก็เป็นแม่คนหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกไปถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย แต่เมื่อเห็นทั้งสถิติ และข่าวที่เกิดขึ้น จึงได้คิดค้นงานวิจัยเกี่ยวกับระบบการแจ้งเตือนและช่วยเหลือเด็กติดในรถ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พัฒนาและคิดค้นขึ้นเพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เบื้องต้นได้มีการสร้างระบบ AI & IoT (Artificial Intelligence : AI & Internet of Things : loT ) ซึ่งเป็นระบบตรวจจับและแจ้งเตือน โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม YOLO V.3 (You Only Look Once) ในการตรวจจับบุคคล เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถรับ-ส่งนักเรียน และได้มีการทดลองระบบเรียบร้อยแล้ว” ผศ.อรดี กล่าว

รองคณบดีวิทยาลัย CITE กล่าวด้วยว่า การหลงลืมเด็กไว้ในรถตู้โรงเรียน รถรับ-ส่งนักเรียน หรือรถยนต์ 30 นาทีแรกมีความสำคัญอย่างมาก จากข้อมูลการทดสอบโดยศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 5 นาที อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนเด็กจะไม่สามารถทนอยู่ได้ และเมื่อผ่านไป 10 นาที ร่างกายจะยิ่งแย่ จนกระทั่งผ่านไป 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวม จากนั้นอาจหยุดหายใจ อวัยวะทุกอย่างจะหยุด ทำงาน และอาจเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น หากช่วยเด็กได้ภายใน 30 นาทีแรกก็จะทำให้ลดการสูญเสีย หรืออัตราการเสียชีวิตจากการหลงลืมเด็กไว้ในรถได้

“ทุกโรงเรียนควรจะมีการติดตั้งระบบการตรวจจับและแจ้งเตือน เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถรับ-ส่งนักเรียน รถตู้โรงเรียน ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ โรงเรียนอาจจะมีการติดตั้งกล้องในการตรวจจับว่ามีเด็กหลงลืมอยู่ในรถหรือไม่ แต่หลักการทำงานของระบบ AI & IoT ที่คิดค้นขึ้นนั้น หาก AI ตรวจพบว่ามีบุคคลในรถหลังจากที่รถ

ดับเครื่อง ประตูห้องโดยสารปิด และประตูคนขับรถปิด ระบบจะมีการส่งข้อความและภาพผ่านแอปพลิเคชั่น Line เพื่อแจ้งเตือนไปยังคนขับรถ และผู้ปกครองของเด็ก หลังจากนั้นจะมีไซเรนดังขึ้น และกระจกประตูรถฝั่งคนขับจะเลื่อนลง ซึ่งการจะวางระบบทั้งหมดได้นั้น ต้องได้รับความยินยอมจากทางโรงเรียน หรือเจ้าของรถ เพราะจะต้องมีการติดตั้งกล้อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย ”ผศ.อรดี กล่าว

ผศ.อรดี กล่าวอีกว่า การติดตั้งระบบดังกล่าว มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยให้พ่อแม่ที่อยู่ที่บ้าน ที่ทำงานได้รู้ว่าลูกของตนเองถึงโรงเรียนแล้วหรือยัง เพราะเมื่อรถดับเครื่องแอร์หยุดทำงาน ระบบจะตรวจจับและถ่ายรูป หากมีเด็กติดอยู่ในรถจะมีข้อความและภาพแจ้งเตือนทันที ดังนั้น รถที่ติดตั้งจะมีการผูกกับสัญญาณ wifi หรือ แชร์อินเตอร์เน็ตจากมือถือ ซึ่งราคาไม่แพง  เพื่อช่วยป้องกันความเผอเรอทำให้โรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนได้รับความไว้วางใจ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครองได้มากขึ้น อีกทั้งสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณค่าเชิงสังคมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในราคาประหยัด

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว ตอบโจทย์เป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ข้อ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และข้อ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทางทีมวิจัยได้มีการออกแบบระบบ จัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ พร้อมสร้างและพัฒนาอุปกรณ์ เขียนโปรแกรม ติดตั้งอุปกรณ์ในรถ ทดสอบระบบ และปรับปรุงแก้ไขระบบ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากโรงเรียน หรือผู้ปกครอง รวมถึงผู้ให้บริการรถตู้สนใจ สามารถติดต่อ oradee.prt@dpu.ac.th  หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ CITE วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  https://www.facebook.com/cite.dpu/?locale=th_TH