ttb analytics แนะเร่งยกระดับภาคเกษตรเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

25

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองภาคเกษตรไทยติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งชักจูงให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตรในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น แนะรัฐและเอกชนร่วมมือยกระดับเศรษฐกิจเกษตรไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ยังมีความต้องการในการทำงานในภาคเกษตรก่อนจะสายเกินไป

เศรษฐกิจภาคการเกษตรนับเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคโดยมีข้อจำกัดในตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่มักกระจุกตัวในเขต กรุงเทพ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดในแต่ละภูมิภาคเท่านั้น โดยตามข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของ GDP โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียงสัดส่วน 8.6%

สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับลดลงเล็กน้อยอาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของ GDP ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติเนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัวพบว่าภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทยยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเวียดนาม ขยายตัวอยู่ที่ 51.5% 82.7% และ 53.2% ตามลำดับ และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน และเยอรมัน ที่ขยายตัว 68.6% และ 51.0% ตามลำดับ

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคการเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ในช่วงน้ำน้อย หรือการลงทุนในเทคโนโลยีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเพาะปลูกในระยะยาว ซึ่งตามข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไม่สามารถลงทุนต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตใด ๆ ได้เลยจากรายได้ที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง ttb analytics ได้สรุปสาเหตุที่ภาคการเกษตรของไทยไม่สามารถขยายตัวได้ ตามเหตุผลหลัก ๆ ต่อไปนี้

1) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการขายสินค้าเกษตรโดยไม่ผ่านการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากสินค้าเกษตรเมื่อผ่านการแปรรูปย่อมมีมูลค่าเพิ่มจากกรรมวิธีการผลิตที่แปรรูปจากสินค้าเกษตรที่ไม่มีเอกลักษณ์ให้กลายเป็นสินค้าบริโภคที่มีความเฉพาะตัว รวมถึงสามารถเพิ่มมูลค่าผ่านรูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมซื้อสินค้าต่างกันออกไป รวมถึงการแปรรูปยังสามารถช่วยลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลางเพื่อให้ช่วยรับซื้อสินค้าจากข้อจำกัดเรื่องที่สินค้าเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มที่เน่าเสียได้ง่าย

2) เกษตรกรไทยเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้จากผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่สามารถก้าวผ่านการเป็นผู้ผลิตเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ จึงยังมีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น ในกรณีศึกษาข้าวขาวพบว่า ปี 2566 ข้าวขาวราคาเฉลี่ย 20.7 บาท/กิโลกรัม กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการก่อนหักต้นทุนการขายและการบริหารที่ราว 4.05 – 5.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้จากผลผลิตขั้นสุดท้ายถึงมือผู้ประกอบการที่ 19.6% -24.5% ในขณะที่เกษตรกรไทยได้รับกำไรจากการเพาะปลูกข้าวเพียงราว 0.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็นการกระจายรายได้ที่ย้อนกลับมาในมือของเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.1% ของราคาข้าวขาวที่เป็นสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 128,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 580,000 บาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลต่อให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้าทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า สอดคล้องกับสถิติที่ชี้ชัดว่าในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนมากถึง 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี 2565 แรงงานภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 11.9 ล้านคน และแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 23.6 ล้านคนเป็น 27.3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากในเชิงโครงสร้างยังพบว่าเกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงานบนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิตแต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต ด้วยเหตุนี้ทาง ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทยเพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตร ก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร คงเกิดคำถามว่าใครจะปลูกข้าวให้เรากิน