เดินสายมูเดือนหวาน เปิดมุมมองใหม่เที่ยวอยุธยา เส้นทาง “พรแห่งความรัก”

90

ความเลื่อมใสศรัทธาของสายมูที่มีต่อองค์พระพิฆเนศ ณ ปราสาทนครหลวง ทำให้ชื่อของ อ.นครหลวง เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่นอกจากการมาขอพรองค์พระพิฆเนศแล้ว เมืองสายน้ำแห่งนี้ยังมีโบราณสถาน วัดวาอาราม อีกหลายแห่งที่น่าสนใจ พร้อมให้ทุกคนไปเดินสายเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต

เดือนแห่งความรัก กุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นโอกาสดี ๆ ที่เราจะออกเดินทางด้วยหัวใจอันเบ่งบาน ในเส้นทาง “พรแห่งความรัก ดอกไม้แห่งศรัทธา” ที่จะชวนทุกคนออกไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เปิดมุมมองใหม่ในเมืองเก่าอยุธยา ที่หลายคนอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน

เส้นทาง “พรแห่งความรัก ดอกไม้แห่งศรัทธา” เป็นไอเดียของ “เชฟลี พิจิกา โรจน์ศตพงศ์”  เจ้าของรายการ  FoodHunter by Chef LeePijika ชวนทุกคนออกไปมูในเดือนหวาน ไหว้บูชา 5 วัด  ขอพรเสริมสิริมงคล สัมผัสกับความหมายดี ๆ ของความรักผ่านแง่มุมต่าง ๆ ใน อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา

1.ผูกมัดรอบล้อม (ใจ) พระธาตุวัดใหญ่เทพนิมิต

“พระธาตุวัดใหญ่เทพนิมิต” เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานอันทรงคุณค่า ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งที่ชาวลาวเวียงถูกกวาดต้อนมายังลุ่มน้ำป่าสักในอดีต  ตัวพระธาตุมีลักษณะเดียวกับ “พระธาตุพนม” จ.นครพนม มีความสูง 28 เมตร น้อยกว่าพระธาตุพนม 2 เมตร ว่ากันว่าแม่ย่าซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มชนลาวอพยพ ท่านชื่นชอบสีชมพู การห่มพระธาตุด้วยผ้าสีชมพูจึงยึดถือกันเรื่อยมา และเชื่อกันว่าหากมาขอพรเรื่องความรัก ไม่ว่าจะเป็นรักแบบไหน ก็จะสมหวังดังตั้งใจ

ภายในอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย ร.1 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2350 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยช่างฝีมือโบราณอันวิจิตรงดงาม หน้าบันอุโบสถมีภาพปูนปั้นเล่าเรื่องทศชาติ และนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนหอระฆังหรือหอกลองเป็นสถาปัตยกรรมประมาณรัชกาลที่ 4 ที่มีอิทธิพลของจีน และโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ ระฆัง หรือ โปง ซึ่งนิยมใช้ในลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

2.ความสัมพันธ์อันบริสุทธิ์ วัดมเหยงค์

วัดมเหยงค์ บ้านไผ่หนอง ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ.2320 ชาวบ้านแถบนี้เป็นลาวอพยพจากทางเวียงจันทร์สมัย ร.2 ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นช่างทองและช่างตีเหล็ก เป็นที่มาของ “หมู่บ้านตีมีดอรัญญิก” ที่มีชื่อเสียงมาเกือบ 200 ปี

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย, พระสังกัจจายน์, เจดีย์คู่หน้าอุโบสถ ศิลปะแบบเวียงจันทร์ ฯลฯ นอกจากจะมาขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะได้พบกับชาวบ้านในละแวกนี้ ที่คอยต้อนรับทุกคนด้วยมิตรไมตรี

3.อาลัยจนวันสุดท้าย วัดกลาง

วัดกลาง สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2330 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำป่าสัก โบราณสถานสำคัญคือ มณฑป หรือ วิหาร ซึ่งเชื่อว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง

บริเวณด้านในวิหาร บนฐานสูงกลางมณฑป จำลองพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า หรือ “พระพุทธรูปปางถวายเพลิง” โดยพระบาทพระพุทธเจ้าทั้ง 2 ข้าง ยื่นโผล่ยื่นออกมานอกโลง กลางพระบาทมีรูปตรากงจักร และลายก้นหอย มีพระกัสสัปปะยืนไหว้พระบาทอยู่  ทั้งยังงดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนังรอบฝาผนังทั้ง 4 ทิศ เป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

4.กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว วัดใหม่ชุมพล

วัดใหม่ชุมพล สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  เนื่องจากด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำป่าสัก  ซึ่งเป็นเส้นทางที่กระบวนเรือของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาผ่านไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างวัดใหม่ขึ้นเพื่อเป็นที่ประชุมไพร่พล  และยังโปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะงดงาม  มีพระนามเป็นทางการว่า “หลวงพ่อทรงธรรม”  แต่ชาวบ้านนิยมเรียกขานกันติดปากว่า  “หลวงพ่อในตึก” ประดิษฐานเป็นองค์ประธานในวิหาร

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดยังมีอีกหลายจุด อาทิ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ศิลปะอยุธยา ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพุทธประวัติภายในวิหารหลวงพ่อทรงธรรม ฯลฯ หากใครได้เข้าไปในตัววิหาร จะสัมผัสได้ถึงความสงบ ร่มเย็น แตกต่างจากสภาพอากาศภายนอกอย่างสิ้นเชิง ได้คุยกับคุณป้าท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาสาเข้ามาดูแลวัด แกบอกว่า ทุกเช้าและเย็นที่เข้าเปิดและปิดประตูวิหาร ยังรู้สึกถึงความเย็นจับใจ จนต้องขนลุกเหมือนมีมนต์ขลังอะไรบางอย่างอยู่ภายในวิหารแห่งนี้

5.เร่งรัดสมหวัง องค์พระพิฆเนศปราสาทนครหลวง

ความงดงาม อลังการของปราสาทนครหลวง อาจจะทำให้หลายคนได้เข้ามาสัมผัสมิติของการท่องเที่ยวใน อ.นครหลวงมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ ถนนทุกเส้นของสายมูมุ่งตรงมาที่ปราสาทนครหลวง ก็คือความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระพิฆเนศ” ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าพระมณฑปพระพุทธบาท เป็นองค์ปูนปั้นปางชนะมาร มี 4 พระกร ทรงตรีศูล บ่วง งา และถ้วยขนม นั่งประทับอยู่บนแท่นหัวกะโหลก ขึ้นชื่อเรื่องปัดเป่าปัญหาอุปสรรคและประทานพรให้ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องความรักและหน้าที่การงาน

ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ผสมผสานศิลปะไทยและขอมได้อย่างงดงาม ด้วยฝีมือช่างไทยโบราณที่อุตสาหะก่อสร้างปราสาทก่อด้วยอิฐทั้งหลัง บนเนินเขาที่สร้างขึ้นโดยการถมดินให้สูง ที่น่าอัศจรรย์คือมีปรางค์ถึง 30 องค์ เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปลพบุรีและไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. 2147 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลา ‘เมืองพระนครหลวง’ หรือศรียโสธรปุระหรือนครวัดในกรุงกัมพูชา

นครหลวงรสถิ่น กินแบบบ้าน ๆ “ครัวสวรรค์บ้านไร่”

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอำเภอนครหลวง พระนครศรีอยุธยา มีความผูกพันกับสายน้ำ ท้องไร่ ท้องนา ถ่ายทอดออกมาเป็นรสชาติถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ หากแวะเวียนมากราบไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคลแล้ว ไม่อยากให้พลาดเมนูอาหารบ้าน ๆ ของชาวนครหลวง

หนึ่งในร้านที่เด็ดคือ  “ครัวสวรรค์บ้านไร่” ที่ใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นมาปรุงให้เรากินกันสด ๆ แบบจานต่อจาน โดดเด่นด้วยปลาแม่น้ำ และพืชผักที่ปลูกไว้ในสวนผสม อาทิ “ต้มโคล้งปลาหลดนา” รสแซ่บ ถึงใจ “ปลาหลดทอดแดดเดียว”  เคี้ยวเพลินได้ทั้งตัว “แกงกะทิปลากดคัง” และ “แกงกะทิปลาไหลใส่กล้วย” รสชาติบ้าน ๆ ถูกใจผู้มาเยือน “แกงขาวเนื้อ” ที่ใช้เนื้อแดดเดียวมาแกงกะทิและหน่อไม้ดอง ใช้กระเทียมพริกไทยให้ความเผ็ดร้อน ฯลฯ

เป็นอีกร้านที่ไม่อยากให้พลาด และถ้าให้ดีควรโทรจองล่วงหน้า ในทริปนี้โชคดีที่เจ้าบ้านอาสาพาเข้าสวน ชวนกันไปเก็บวัตถุดิบมาทำกับข้าว ในเมนู “แกงกะทิเนื้อใส่กล้วย” ซึ่งจะใช้กล้วยดิบที่ตัดมาสด ๆ ปอกเปลือก หั่น แล้วต้มให้สุก เพิ่มความหนุบหนับให้แกงกะทิเนื้อ หอมสมุนไพรจากเครื่องแกงที่ทำเอง เป็นแกงเนื้อที่อร่อยเหาะ โดยเฉพาะกล้วยดิบที่หอมมันอย่างไม่น่าเชื่อ

เส้นทาง “พรแห่งความรัก ดอกไม้แห่งศรัทธา”

สอบถามรายละเอียดและสั่งจองแพ็คเกจรวมถึงของไหว้ได้ที่

FB Page: Chef LeePijika

LINE: @leepijika

โทร.096-828-1854

ราคา 999 บาท

-ของไหว้ 1 ชุด (ข้าวเบญจรัตนบุปผา น้ำ ดอกไม้ ธูป เทียน อย่างละ 5 ชุด)

-ของว่าง เครื่องดื่ม 1 ชุด

(ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน)

ครัวสวรรค์บ้านไร่

เปิด 9.00-20.00 น.

(หยุดวันอาทิตย์)

โทร 092 983 2313

(หมู่คณะ / เมนูพิเศษ กรุณาจองล่วงหน้า)