เกาะติดเจ้าวายร้าย พบป่วยตายเพิ่ม 2 เท่า แม้ยังไม่เข้าหน้าฝน

61

ประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น จึงเป็นแหล่งเจริญเติบโตที่ดีของแมลงและสัตว์มีพิษหลายชนิด โดยเฉพาะยุงที่มีอยู่ในแทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ยุงลายจะเพาะพันธุ์และกระจายเชื้อมากขึ้น แต่จากรายงานล่าสุดพบว่า แม้ยังไม่เข้าช่วงหน้าฝน  จำนวนของผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกในปีนี้ กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนน่ากังวล

จากรายงานของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า แม้ว่าจะยังไม่เข้าสู่หน้าฝนและจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับทุกปี แต่พบว่าอัตราป่วยตายของคนไทยโดยโรคไข้เลือดออกมีจำนวนสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ที่มีอัตราป่วยตายสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า  โดยปีนี้พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้มากถึง 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า ในปี 2561 นี้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 6,565 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับทุกปีในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 18 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง 14 ราย (3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) ได้แก่ ภาวะอ้วน 4 ราย เบาหวานและความดันโลหิตสูง 2 ราย โรคเลือด 2 ราย ลมชักและบกพร่องทางสติปัญญา 2 ราย ติดสุรา 1 ราย ลิ้นหัวใจรั่ว 1 ราย ทารก 1 ราย และอยู่ระหว่างมีประจำเดือน 1 ราย

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรกในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ระนอง ระยอง นครศรีธรรมราช และพิจิตร ตามลาดับ  ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในภาพรวมของประเทศไทยปีนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะระบาดรุนแรง แต่จากข้อมูลพบว่ามีอัตราป่วยตายสูงขึ้นจากปกติ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ที่มีอัตราป่วยตายร้อยละ 0.25 และ 0.26 ตามลาดับ ซึ่งสูงกว่าปกติประมาณ 2 เท่า (อัตราป่วยตายปกติ : 0.1)

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แม้ในช่วงนี้จะยังไม่เข้าสู่หน้าฝนก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนสลับฝน จึงอาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้  กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

กรมควบคุมโรค ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง  ให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั้งในส่วนของมาตรการและการป้องกันโรค  หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง

ดังนั้นหากมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เช่นไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย  และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันการณ์

หลายคนอาจคุ้นเคยกับการถูกยุงกัด หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา และอาจคิดว่า โรคไข้เลือดออกจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหน้าฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าช่วงเวลาใด ดังนั้นหากจะกำจัดตั้งแต่ต้นตอ ก็ต้องมุ่งไปที่การหลีกหนีการถูกยุงกัด และรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั่นเอง