ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน เผยเนื่องในวันอ้วนโลกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี ว่าในปัจจุบันมีคนไทยมีภาวะโรคอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 (“น้ำหนักเกิน” ค่า BMI > 25 kg/m) โดยในกลุ่มนี้มีเกือบ 7 ล้านคนเป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ (ค่า BMI > 30 kg/m) การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะ ถือเป็นอีกวิธีในการต่อสู้กับภาวะโรคอ้วนรุนแรง ที่จะทำให้ลดภาวะของโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากความอ้วน
นพ.นรนนท์ บุญยืน ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและโรคอ้วน โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอ้วนโลก ปัจจุบันมีคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วทุกมุมโลก โดยโรคอ้วนเป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในร่างกายมากเกินปกติ โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอ้วนทำได้ง่าย ๆ คือการวัดดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body Mass Index) โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวหารด้วยความสูง(เมตร) ยกกำลังสอง หน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร (kg/m2) โดยทั่วไปแล้วสำหรับคนไทยถ้ามีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ถ้าเกิน 30 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วนรุนแรงหรือโรคอ้วนทุพพลภาพ
โดยในปัจจุบันประชากรที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย มีประชากรกว่า 1 ใน 3 มีภาวะโรคอ้วนและประชากรเกือบ 7 ล้านคนเป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ (BMI มากกว่า 30) โรคอ้วนเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายใช้ ทำให้เกิดการสะสมในรูปแบบของไขมันในร่างกาย นอกจากพฤติกรรมการรับประทานแล้ว ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้อีกหลายประการ เช่น โรคเกี่ยวกับฮอร์โมนบางชนิด พันธุกรรม ลักษณะการทำงานสภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัว เป็นต้น
นพ.นรนนท์ กล่าวว่าโรคอ้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพทุกระบบของร่างกาย เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ นอนกรน ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ โรคข้อเสื่อมก่อนวัย ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก มะเร็งบางชนิด เป็นต้น อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้โรคอ้วนยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นใจ การทำงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ โดยสำหรับประเทศไทยมูลค่าทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขที่ต้องจ่ายจากโรคอ้วนมากกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
การรักษาโรคอ้วน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดน้ำหนัก เพื่อทุเลาและรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ความมั่นใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วย การรักษาโรคอ้วน ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มจากหาสาเหตุของโรคอ้วน ตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความอ้วน แนวทางการรักษาเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเลือกอาหาร การออกกำลังกาย การติดตามน้ำหนัก มวลไขมัน/กล้ามเนื้อ การใช้ยาลดน้ำหนักที่ปลอดภัยอย่างถูกวิธี การทำหัตถการผ่านกล้อง ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งในผู้ป่วยโรคอ้วนแต่ละคน อาจมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน
ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคอ้วน น้ำหนักและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วย การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารผ่านการส่องกล้อง เพื่อลดปริมาตรของกระเพาะอาหารและปรับฮอร์โมนทางเดินอาหาร (ลดฮอร์โมนหิว เพิ่มฮอร์โมนอิ่ม) การผ่าตัดสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าการลดน้ำหนักวิธีการอื่น ๆ ในเวลาอันสั้นกว่า และช่วยให้โรคแทรกซ้อนต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงโอกาสกลับมาอ้วนซ้ำยังน้อยกว่าการลดน้ำหนักแบบอื่นเช่นกัน ผู้ป่วยโรคอ้วนที่เหมาะสมแก่การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดตามแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแห่งประเทศไทย พ.ศ.2564 ได้แก่ ผู้ที่มี BMI มากกว่า 37.5 หรือผู้ที่มี BMI มากกว่า 32.5 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนอย่างน้อย 1 โรค
การผ่าตัดลดน้ำหนัก มีหลายวิธีในปัจจุบัน ได้แก่
1) แบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy) เป็นการตัดแต่งกระเพาะให้เล็กลงเป็นทรงกระบอก เหลือปริมาตร 15-20% จากปริมาตรเดิม และมีผลให้ฮอร์โมนความหิว (Ghrelin) ลดลง
ข้อดี
– สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ 60-70% ของน้ำหนักส่วนเกิน (Excess weight loss) ในช่วง 1 ปีหลังผ่าตัด
– โอกาสขาดวิตามิน แร่ธาตุน้อยกว่าวิธีบายพาส
(แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการทดแทน)
– การผ่าตัดใช้เวลาน้อยกว่าวิธีอื่น
ข้อเสีย
– ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนรุนแรง
– ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด : โอกาสแนวผ่าตัดมีเลือดออก รั่วซึม ตีบตัน น้อยกว่า 1-3% อาจจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไข
– เกิดภาวะกรดไหลย้อนหลังผ่าตัดได้ ประมาณ 15-20 %
2) แบบบายพาส (Roux en Y Gastric Bypass) เป็นการตัดแต่งกระเพาะให้เป็นกระเปาะ ให้มีปริมาตรประมาณ 20-30 ซีซี และตัดต่อลำไส้เล็กส่วนต้นขึ้นมารับอาหารแทน ส่งผลให้ ปริมาณอาหารที่ทานได้ลดลง การดูดซึมอาหารลดลง ควบคุมฮอร์โมนทางเดินอาหารได้ดี ฮอร์โมนอินซูลินทำงานดีขึ้น วิธีนี้จะไม่ได้นำกระเพาะออกมาภายนอก แต่จะเปลี่ยนทางเดินอาหารแทน
ข้อดี
– ลดน้ำหนักได้มาก สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ 70-80% ของน้ำหนักส่วนเกิน (Excess weight loss) ในช่วง 1 ปีหลังผ่าตัด
– ช่วยให้การทำงาน ฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น ผลลัพธ์ในการรักษาเบาหวานดีกว่าแบบสลีฟ
– ควบคุมฮอร์โมนความอิ่ม (GLP-1) ออกฤทธิ์นานขึ้น
– เหมาะกับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีภาวะกรดไหลย้อน
ข้อเสีย
– อาจเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Dumping syndrome เนื่องจากอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการทางอาหารให้ถูกวิธีหลังผ่าตัด
– เนื่องจากอาหารไม่ผ่านกระเพาะเลย ทำให้ขาดแร่ธาตุบางชนิดที่ดูดซึมในกระเพาะอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินB12 จำเป็นต้องได้รับการทดแทนอย่างเคร่งครัด
– ไม่สามารถตรวจส่องกล้องทางปาก (Gastroduodenoscopy) เพื่อตรวจดูรอยโรคในกระเพาะอาหารเดิมได้ เช่น การตรวจหามะเร็งกระเพาะ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจส่องกล้องกระเพาะเพื่อคัดกรองรอยโรคก่อนการผ่าตัดทุกราย
– มีโอกาสเกิดแผลบริเวณจุดตัดต่อ ระหว่างกระเพาะกับลำไส้เล็ก (Marginal Ulcer)
– โอกาสเกิดไส้เลื่อนภายใน (Internal Hernia) เนื่องจากมีการผ่าเปลี่ยนทิศทางลำไส้
3) แบบสลีฟพลัส เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบ วิธีสลีฟรวมกับมีการตัดต่อลำไส้เล็ก แบ่งเป็นหลายวิธีย่อยๆ โดยนิยมทำมากขึ้น โดยเฉพาะในชาวเอเชีย ผลลัพธ์การลดน้ำหนักและการรักษาเบาหวานดีเทียบเท่าแบบบายพาส และสามารถลดข้อเสียของวิธีบายพาสได้มาก
การผ่าตัดลดน้ำหนัก ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีความปลอดภัยสูง ผลแทรกซ้อนต่ำ ได้ผลลัพธ์การลดน้ำหนัก และลดโรคแทรกซ้อนได้ดี แต่อาจไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคอ้วนในทุกราย ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ควรมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ควรได้รับการดูแลและแนะนำโดยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจการรักษาและตั้งใจที่จะรักษาโรคอ้วนอย่างจริงจัง หลังการผ่าตัดต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ออกกำลังกาย ทานวิตามิน แร่ธาตุทดแทนตามคำแนะนำ รวมถึงติดตามการรักษาต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อผลลัพธ์คือ ชีวิตใหม่ที่มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น